พัฒนาเสื้อผ้าชาติพันธุ์ร่วมสมัย สร้างรายได้ เติมเต็มศักยภาพของสตรีในชุมชนชาติพันธุ์จังหวัดเชียงราย

เชียงราย งานหัตถกรรมและฝีมือ

จังหวัดเชียงรายเป็นหนึ่งในจังหวัดที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์สูง ซึ่งชุมชนชาติพันธุ์เหล่านี้ตั้งถิ่นฐานอยู่ทั่วพื้นที่จังหวัด และยังคงอาศัยอยู่บริเวณเดิมมาหลายชั่วอายุคน โดยยังคงยึดวิถีดั้งเดิมในการดำรงชีวิต นั่นคือผู้ชายมีหน้าที่ทำงานและหารายได้จากนอกบ้าน ส่วนผู้หญิงส่วนใหญ่จะอยู่ติดบ้านและดูแลความเป็นอยู่ของสมาชิกในครอบครัวเป็นหลัก

บทบาทตามวิถีดั้งเดิมส่งผลให้ผู้หญิงในชุมชนชาติพันธุ์มีเวลาในการพัฒนาทักษะด้านหัตถกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเย็บปักถักร้อย ทอเสื้อผ้าและเครื่องนุ่งห่มต่างๆ เนื่องจากวัฒนธรรมของชุมชนชาติพันธุ์นิยมสวมเครื่องนุ่งห่มที่ผลิตเองในครัวเรือน 

จากวิถีและบทบาทเหล่านี้ทำให้ภูมิปัญญาด้านการผลิตเครื่องนุ่งห่มหรือผลิตภัณฑ์เสื้อผ้าของผู้หญิงในชุมชนชาติพันธุ์ถูกส่งต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น และแทบไม่ได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมภายนอก เพราะถิ่นฐานของชุมชนชาติพันธุ์ล้วนอยู่บริเวณพื้นที่ห่างไกล ทำให้ผลิตภัณฑ์เสื้อผ้าในชุมชนชาติพันธุ์มีเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น ซึ่งปัจจุบัน เริ่มมีคนให้ความสนใจมากขึ้น ส่งผลให้นอกจากจะผลิตใช้เองแล้ว พวกเธอยังสามารถนำผลิตภัณฑ์เสื้อผ้ามาจำหน่ายเพื่อหารายได้สนับสนุนครอบครัวได้อีกแรง

ทั้งนี้การผลิตเสื้อเพื่อจัดจำหน่ายนอกชุมชนนับว่าเป็น ‘สิ่งใหม่’ สำหรับกลุ่มชาติพันธุ์ ทำให้เหล่าผู้ผลิตหรือกลุ่มสตรีไม่คุ้นเคยกับการผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาด ผลิตภัณฑ์เสื้อผ้าของชุมชนจึงยังมีรูปแบบที่ไม่ร่วมสมัยและยังมีศักยภาพในการพัฒนาได้อีกมาก

เครือข่ายสุขภาพชาติพันธุ์บนพื้นที่สูง จังหวัดเชียงราย ซึ่งเป็นองค์กรสาธารณประโยชน์ที่ช่วยส่งเสริมสุขภาวะของชุมชนชาติพันธุ์ในพื้นที่จังหวัดเชียงราย เล็งเห็นประเด็นนี จึงได้จัดทำโครงการ ‘พัฒนาผลิตภัณฑ์เสื้อผ้าร่วมสมัยบนฐานวัฒนธรรมชุมชนชาติพันธุ์’ เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์เสื้อผ้าให้มีความร่วมสมัยบนฐานวัฒนธรรมชุมชนชาติพันธุ์ และจัดอบรมการขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ 

โดยมีเป้าหมายเป็นกลุ่มผู้หญิงในชุมชนชาติพันธุ์สามกลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่เคยผลิตสินค้าส่งให้กับเครือข่ายฯ อยู่แล้ว กลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 และกลุ่มผู้ด้อยโอกาส ไม่ว่าจะเป็น สตรีพิการ สตรีหม้าย และสตรีที่มีลูกอ่อน เป็นต้น รวมทั้งสิ้นจำนวน 87 คน ไม่เพียงเท่านั้น โครงการดังกล่าวยังมีเครือข่าย ทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เชี่ยวชาญด้านหัตถกรรมที่มีชื่อเสียง เช่น กลุ่มพัฒนาบทบาทสตรีอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย เพื่อร่วมกันจัดทำหลักสูตรในการพัฒนาทักษะให้กับกลุ่มเป้าหมายกลุ่มนี้

โครงการวางแผนการฝึกฝนทักษะให้กับกลุ่มเป้าหมายตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ไม่ว่าจะเป็น การเย็บผ้าเบื้องต้นเพื่อปรับพื้นฐานทักษะของกลุ่มสตรีให้ได้มาตรฐาน ซึ่งการอบรมในส่วนนี้จะใช้เวลาถึง 120 ชั่วโมง จากนั้นก็จะเข้าสู่การอบรมด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้สวยงามดึงดูดใจผู้บริโภค โดยใช้ต้นทุนด้านลวดลายและการตกแต่งเครื่องนุ่งห่มของกลุ่มชาติพันธ์มาพัฒนาให้มีความร่วมสมัยมากขึ้น ไปจนถึงการเสริมสร้างองค์ความรู้ด้านการตลาดออนไลน์ ส่งผลให้กลุ่มเป้าหมายมีทักษะเพิ่มพูนมากขึ้น สามารถทำการตลาดออนไลน์ได้เบื้องต้น เช่น การโพสต์ภาพถ่ายสินค้า การเขียนโพสต์ให้น่าสนใจ หรือการไลฟ์ขายสินค้าผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย เกิดเป็นสินค้าที่มีความร่วมสมัยบนฐานวัฒนธรรมชุมชนชาติพันธ์ 4 รูปแบบ

ในอนาคตหากโครงการสามารถดำเนินไปได้อย่างไม่มีอุปสรรค สิ่งที่โครงการได้คาดหวังไว้คือกลุ่มเป้าหมายจะต้องสามารถสร้างต้นแบบผลิตภัณฑ์ที่มีความร่วมสมัยและตรงกับความต้องการของตลาดได้ 4 รูปแบบ และเกิดชิ้นงานที่พร้อมจัดจำหน่ายไม่น้อยว่า 200 ชิ้น ซึ่งโครงการได้มีการประสานไปยังศูนย์เรียนรู้และพัฒนาผลิตภัณฑ์กลุ่มพัฒนาสตรีอำเภอแม่สายและร้านค้าเอกชนต่างๆ เพื่อใช้เป็นช่องทางจัดจำหน่ายอีกทางหนึ่งนอกเหนือไปจากการขายผ่านทางออนไลน์ ซึ่งหากความคาดหวังเหล่านี้สามารถประสบความสำเร็จ เหล่าสตรีในเครือข่ายสุขภาพชาติพันธุ์บนพื้นที่สูง จังหวัดเชียงรายจะสามารถสร้างรายได้ให้กับตนเองและครอบครัว ซึ่งนับว่าเป็นบทบาทที่ร่วมสมัยสำหรับสตรี ที่สามารถเติมเต็มศักยภาพของตนเองและมีส่วนในการหาเลี้ยงครอบครัวได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ภูมิปัญญาด้านการผลิตเครื่องนุ่งห่มหรือผลิตภัณฑ์เสื้อผ้าของผู้หญิงในชุมชนชาติพันธุ์ถูกส่งต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น และแทบไม่ได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมภายนอกทำให้ผลิตภัณฑ์เสื้อผ้าในชุมชนชาติพันธุ์มีเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น

เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น

พัฒนาผลิตภัณฑ์เสื้อผ้าร่วมสมัยบนฐานวัฒนธรรมชุมชนชาติพันธุ์

ชื่อหน่วยงาน

เครือข่ายสุขภาพชาติพันธุ์บนพื้นที่สูง จังหวัดเชียงราย

จังหวัด

เชียงราย

ปีโครงการ

2563

ติดต่อ

ผู้ประสานงาน: นายนันทชัย ภู่โพธิ์เกตุ
โทร: 086-911-1975

เป้าประสงค์โครงการ

  1. ผู้หญิงที่เข้าร่วมโครงการสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์เสื้อผ้าให้มีความร่วมสมัยบนฐานวัฒนธรรมชุมชนชาติพันธุ์
  2. ผู้หญิงที่เข้าร่วมโครงการมีรายได้จากการขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์และการออกร้าน ซึ่งจะส่งผลให้ผู้หญิงชาติพันธุ์สามารถพึ่งพาตนเองในด้านเศรษฐกิจได้

เรื่องราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

กว่า 74 หน่วยงาน 42 จังหวัด กับ 1 เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มีศักยภาพ ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพแก่แรงงานด้อยโอกาส