การแปรรูปสมุนไพรไทยเพื่อการรักษาโรค ทางเลือกใหม่จากองค์ความรู้ดั้งเดิม ของชุมชนตำบลเมืองยาง อำเภอชำนิ จังหวัดบุรีรัมย์

บุรีรัมย์ การแปรรูปผลิตภัณฑ์

พืชสมุนไพรเป็นสิ่งที่อยู่คู่คนไทยมาแต่โบราณ ซึ่งก่อนที่แพทย์แผนปัจจุบันและระบบสาธารณสุขยังไม่เจริญก้าวหน้า ชุมชนต่างๆ นิยมนำสมุนไพรใกล้บ้านมาใช้บรรเทาอาการ หรือรักษาอาการเจ็บป่วย ซึ่งกระบวนการรักษาและสรรพคุณของสมุนไพรชนิดต่างๆ เหล่านี้ ล้วนเป็นองค์ความรู้ที่มีคุณค่าและสำคัญอย่างยิ่ง แต่เมื่อการแพทย์แผนปัจจุบันเริ่มเข้ามามีบทบาท สรรพคุณและคุณค่าของสมุนไพรไทย อันเป็นสิ่งที่เรียกได้ว่าเป็นภูมิปัญญาโบราณ ก็เริ่มถูกบดบังไปเรื่อยๆ และถูกทอดทิ้งในที่สุด ส่งผลให้เยาวชนรุ่นหลังรู้จักสมุนไพรไทยน้อยลง ทั้งๆ ที่สมุนไพรเหล่านั้นอยู่ใกล้ตัวเรานิดเดียว

ด้วยเหตุนี้ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเมืองยาง อำเภอชำนิ จังหวัดบุรีรัมย์ จึงริเริ่ม “โครงการแปรรูปสมุนไพรในชุมชน เพื่อส่งเสริมการประกอบอาชีพในตำบลเมืองยาง อำเภอชำนิ จังหวัดบุรีรัมย์” ขึ้น เพื่อช่วยสร้างรายได้และทางเลือกใหม่ในการประกอบอาชีพให้กับคนในชุมชน โดยใช้วัตถุดิบที่สามารถปลูกเองได้ในท้องถิ่นอย่างสมุนไพรมาเป็นวัตถุดิบหลัก 

โดยคัดเลือกกลุ่มเป้าหมายจากผู้ว่างงาน ผู้สูงอายุ และแรงงานนอกระบบ จำนวน 60 คน จากพื้นที่ชุมชนตำบลเมืองยาง จำนวน 13 หมู่บ้าน โดยเริ่มต้นจากการพัฒนาคุณภาพสมุนไพรท้องถิ่น เพื่อเป็นการเพิ่มมูลค่าสมุนไพรที่มีในอยู่ชุมชนให้สูงขึ้น โดยการนำสมุนไพรที่มีจำนวนมากในพื้นที่ ได้แก่ ไพล ขมิ้นชัน และตะไคร้ มาแปรรูปเป็นลูกประคบสมุนไพร ยาหม่องไพล และน้ำมันเหลืองไพล โดยมีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเมืองยางเป็นผู้ให้คำแนะนำ 

ซึ่งการพัฒนาคุณภาพของสมุนไพรในชุมชนเพื่อให้รองรับกับการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ นั้น นอกจากจะช่วยให้กลุ่มเป้าหมายมีองค์ความรู้และเป็นที่ยอมรับในทักษะดังกล่าวแล้ว ยังเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค และช่วยเพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขันให้กับวิสาหกิจชุมชนซึ่งจะเป็นการสร้างฐานมั่นคงทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนผู้ว่างงานจากสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 มีรายได้เลี้ยงชีพและครอบครัวได้โดยไม่ต้องไปทำงานที่อื่น

ทั้งนี้ นอกจากการเพิ่มพูนองค์ความรู้ดั้งเดิมให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้นแล้ว คณะทำงานยังช่วยส่งเสริมองค์ความรู้และเทคนิควิธีการสมัยใหม่ ที่เหมาะสมกับการพัฒนาทักษะอาชีพ และการเพิ่มมูลค่าสมุนไพรในท้องถิ่นอีกด้วย เช่น การใช้เทคโนโลยีจากสมาร์ตโฟนเข้ามาช่วยจัดการธุรกิจ และช่วยแนะนำช่องทางที่สามารถเปิดรับข้อมูลข่าวสาร เพื่อนำมาต่อยอดให้กับการประกอบอาชีพและการดำรงชีวิตต่อไป 

โดยเริ่มต้นจากการเตรียมความพร้อมให้กลุ่มเป้าหมายได้เรียนรู้และฝึกปฏิบัติจริง ผ่านการสำรวจสายพันธุ์สมุนไพรในชุมชน และจัดหาวัสดุอุปกรณ์ในการแปรรูปมาสนับสนุน จากนั้นจึงจัดเวทีแลกเปลี่ยนและเรียนรู้ประสบการณ์ระหว่างชุมชน เพื่อสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของหน่วยงานต่างๆ ในท้องถิ่น ซึ่งก่อให้เกิดการจัดตั้งกลุ่มผู้ประกอบอาชีพที่ครอบคลุมทุกหมู่บ้าน ในเขตพื้นที่ตำบลเมืองยาง 

ส่งผลให้ปัจจุบัน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลทั้ง 5 แห่ง ในอำเภอชำนิ มีปริมาณการใช้ผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรเข้ามารักษาควบคู่กับการแพทย์สมัยใหม่มากขึ้น เช่น มีการใช้ยาหม่องไพลกว่า 1,500 กระปุกต่อเดือน, มีการใช้น้ำมันไพลประมาณ 1,500 ขวดต่อเดือน, และมีการใช้ลูกประคบสมุนไพรประมาณ 250 ลูกต่อเดือน ส่งผลให้กลุ่มเป้าหมายมีรายได้เข้ามาอย่างต่อเนื่องโดยไม่ต้องออกไปทำงานที่อื่น

นอกจากนี้ โครงการยังมีเจตจำนงที่จะเผยแพร่คุณประโยชน์และวิธีการแปรรูปสมุนไพรให้ผู้ที่สนใจเข้ามาศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม ผ่านการจัดทำเนื้อหาการเรียนรู้เรื่องสรรพคุณสมุนไพรที่มีอยู่ในชุมชน ให้ผู้ที่สนใจได้เข้ามาเพิ่มพูนความรู้ได้ตลอดเวลา ซึ่งเป็นสิ่งที่ช่วยการันตีความสำเร็จของโครงการได้เป็นอย่างดี แม้ว่าโครงการจะยังไม่สิ้นสุดการดำเนินการก็ตาม

 

โครงการแปรรูปสมุนไพรในชุมชน เพื่อส่งเสริมการประกอบอาชีพในตำบลเมืองยาง อำเภอชำนิ จังหวัดบุรีรัมย์ นอกจากจะช่วยให้กลุ่มเป้าหมายมีองค์ความรู้และเป็นที่ยอมรับในทักษะดังกล่าวแล้ว ยังเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค และช่วยเพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขันให้กับวิสาหกิจชุมชนซึ่งจะเป็นการสร้างฐานมั่นคงทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ

เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น

แปรรูปสมุนไพรในชุมชน เพื่อส่งเสริมการประกอบอาชีพในตำบลเมืองยาง อำเภอชำนิ จังหวัดบุรีรัมย์

ชื่อหน่วยงาน

โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเมืองยาง อำเภอชำนิ จังหวัดบุรีรัมย์

จังหวัด

บุรีรัมย์

ปีโครงการ

2563

ติดต่อ

ผู้ประสานงาน: นางสาวปรางทอง ชำนิพันธ์
โทร: 089-8164928

เป้าประสงค์โครงการ

  1. สร้างความภาคภูมิใจให้กับคนในท้องถิ่น เพราะรากฐานมาจากภูมิปัญญาท้องถิ่น และทรัพยากรในท้องถิ่น
  2. แนวทางในการแปรรูปสมุนไพรในชุมชน ช่วยในการสร้างอาชีพและรายได้ให้กับคนในชุมชน
  3. ส่งเสริมด้านการตลาดของผลิตภัณฑ์สมุนไพรให้เป็นที่ยอมรับ และสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค ช่วยในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับวิสาหกิจชุมชน ที่จะเป็นการสร้างฐานมั่นคงทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ

เรื่องราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

กว่า 74 หน่วยงาน 42 จังหวัด กับ 1 เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มีศักยภาพ ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพแก่แรงงานด้อยโอกาส