ชมรมเพื่อเพื่อนผู้พิการตำบลแจ้ซ้อน จังหวัดลำปาง มุ่งพัฒนาทักษะด้านการประกอบอาชีพ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้พิการในชุมชน
ชุมชนตำบลแจ้ซ้อน อำเภอเมืองปาน เป็นชุมชนเล็กๆ ในจังหวัดลำปาง ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม เช่น ทำนา, ปลูกข้าวโพด, ปลูกมันสำปะหลัง, ทำสวนเหมี้ยง (พืชชนิดหนึ่ง สามารถนำใบมาชงชาได้), ทำสวนกาแฟ เป็นต้น ซึ่งกระทำควบคู่ไปกับงานหัตถกรรมต่างๆ เช่น การทอผ้าและการทำเครื่องจักสาน
ถึงแม้จะดูเหมือนว่า ในชุมชนมีทางเลือกสำหรับการประกอบอาชีพอยู่มากมาย ทว่า ทางเลือกส่วนใหญ่กลับไม่รองรับสำหรับคนพิการ ด้วยเหตุนี้ ศูนย์บริการคนพิการทั่วไป ชมรมเพื่อเพื่อนผู้พิการตำบลแจ้ซ้อน จึงต้องการแก้ปัญหาดังกล่าว เพื่อให้คนพิการมีรายได้ มีอาชีพ สามารถพึ่งพาตัวเอง และช่วยเหลือสังคม ด้วยการเปลี่ยนภาระให้เป็นพลัง ผ่านโครงการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพเครือข่ายชมรมคนพิการ อำเภอเมืองปาน จังหวัดลำปาง
ซึ่งพันธกิจด้านการยกระดับคุณภาพชีวิตของคนพิการ เป็นสิ่งที่ศูนย์บริการคนพิการทั่วไปกระทำมาตลอดอยู่แล้ว แต่โครงการก่อนหน้านี้ยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เพราะที่ผ่านมา คนพิการในชุมชนยังเข้าใจว่า ถึงไม่ต้องทำอะไร หน่วยงานภาครัฐก็เข้ามาช่วยเหลืออยู่แล้ว จึงต้องอาศัยการปรับความเข้าใจ เพื่อให้คนพิการพึ่งพาตัวเอง เพื่อให้สามารถสู้ชีวิตต่อไปได้อย่างยั่งยืน โดยโครงการนี้มีกลุ่มเป้าหมายจำนวน 75 คน
คณะทำงานตั้งใจทำโครงการครั้งใหม่ ให้เป็นโครงการตัวอย่างและเป็นรูปธรรมมากขึ้น ผ่านหลักสูตรการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพที่หลากหลาย ได้แก่ หลักสูตรการเลี้ยงกบและปลาดุก, หลักสูตรการแกะสลักจากเครื่องคอมพิวเตอร์ (CNC), หลักสูตรการเพาะพันธุ์กล้าไม้ป่า, หลักสูตรการเลี้ยงผึ้งโพรงป่า, และหลักสูตรการเพาะเห็ดนางฟ้า เพื่อสร้างทางเลือกใหม่ๆ ให้กลุ่มเป้าหมายซึ่งเป็นคนพิการมีโอกาสในการประกอบอาชีพมากขึ้น
ทั้งนี้ การอบรมในหลักสูตรต่างๆ ข้างต้น เป็นแผนการระยะยาวที่คณะทำงานคาดหวังไว้ ซึ่งเป็นแผนการดำเนินงานที่มีระยะเวลา 3-5 ปี โดยจะกระทำควบคู่กับการส่งเสริมให้คนพิการเข้าทำงานตามองค์กรสาธารณประโยชน์ต่างๆ ในฐานะพนักงานประจำ ซึ่งสอดคล้องกับพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ในมาตราที่ 33 และมาตราที่ 35 เพื่อให้ในระยะสั้น กลุ่มเป้าหมายสามารถมีช่องทางในการสร้างรายได้
ขั้นตอนแรกของการดำเนินการ เป็นขั้นตอนที่สำคัญที่สุด นั่นคือการเปลี่ยนทัศนคติของกลุ่มเป้าหมาย ผ่านการปรับความคิดที่ว่าตัวเองเป็นภาระ ทำอะไรไม่ได้ ได้แต่รอความช่วยเหลือจากภาครัฐ ให้กลายเป็นพลัง และเปลี่ยนจากสถานะของผู้รับมาเป็นผู้ให้ ซึ่งได้รับความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายในท้องถิ่น อาทิ มูลนิธิพิทักษ์ดวงตาลำปาง, องค์การบริหารส่วนตำบลแจ้ซ้อน, และโรงเรียนบ้านทุ่ง เป็นต้น
เมื่อกลุ่มเป้าหมายเริ่มมีความคิดเชิงบวก และเชื่อมั่นในความสามารถของตัวเองแล้ว ถึงจะเริ่มขั้นตอนการส่งเสริมด้านอาชีพ และสนับสนุนให้กลุ่มเป้าหมายเข้าทำงานในองค์กรต่างๆ จากนั้นจึงค่อยเสริมองค์ความรู้ด้านความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม เช่น การคิดเชิงระบบ การทำงานเป็นทีม ความรู้พื้นฐานด้านการสื่อสารและสารสนเทศและการสื่อสาร และทักษะความเป็นผู้นำ ซึ่งจะทำควบคู่ไปกับการพัฒนาทักษะการจัดการเศรษฐกิจครัวเรือนและการจัดการหนี้สิน โดยที่ผ่านมา คณะทำงานมีนโยบายวางแผนการออมเงินให้กลุ่มเป้าหมาย ด้วยการให้เข้าเป็นสมาชิกสหกรณ์เครดิตยูเนียนแจ้ซ้อน ซึ่งเป็นสถาบันการเงินในชุมชนที่มีความเข้มแข็ง และมีสวัสดิการรองรับ เช่น ทุนการศึกษา ทุนพัฒนาอาชีพ และการให้กู้ยืมเงินเพื่อลงทุน
ซึ่งหากโครงการนี้สามารถดำเนินตามแผนการดำเนินงานที่วางไว้ได้ นอกจากจะช่วยส่งเสริมให้กลุ่มเป้าหมายมีโอกาสในการประกอบอาชีพ ตามหลักสูตรต่างๆ ที่เปิดอบรมแล้ว ยังจะช่วยให้กลุ่มเป้าหมายรู้จักการบริหารเงินและการเก็บออม ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างมั่นคง
การอบรมในหลักสูตรต่างๆ เป็นแผนการระยะยาวที่คณะทำงานคาดหวังไว้ ซึ่งเป็นแผนการดำเนินงานที่มีระยะเวลา 3-5 ปี โดยจะกระทำควบคู่กับการส่งเสริมให้คนพิการเข้าทำงานตามองค์กรสาธารณประโยชน์ต่างๆ ในฐานะพนักงานประจำ
เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น
ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพเครือข่ายชมรมคนพิการ อำเภอเมืองปาน จังหวัดลำปาง
ชื่อหน่วยงาน
จังหวัด
ปีโครงการ
ติดต่อ
เป้าประสงค์โครงการ
กลุ่มคนพิการมีรายได้ มีอาชีพ สามารถพึ่งพาตัวเอง ช่วยเหลือสังคม เปลี่ยนภาระให้เป็นพลัง คนพิการและครอบครัวมีคุณภาพและวิถีชีวิตดีขึ้น