วิทยาลัยชุมชนพังงาหยิบไอเดียประดิษฐ์ดอกไม้ดินของผู้สูงอายุในชุมชน มาทำโครงการฝึกทักษะอาชีพให้กับผู้ด้อยโอกาส
หากคุณเป็นคนชอบเดินทางและช่างสังเกต คุณคงพบว่าประเทศไทยของเราเต็มไปด้วยดอกไม้ ไม่ว่าจะเป็นดอกไม้ที่ผลิดอกตามสองข้างทาง ที่จะเปลี่ยนสี เปลี่ยนชนิดไปตามฤดูกาลของพันธุ์ไม้นั้นๆ ตลอดจน ดอกไม้ประดับเพื่อความสวยงามตามสถานที่ต่างๆ เช่น ดอกไม้ตามที่พักโรงแรม หรือดอกไม้ตามร้านอาหาร ทุกหนทุกแห่งถูกประดับไว้ด้วยดอกไม้ที่สวยงาม
ดอกไม้ที่ประดับประดาอยู่ตามที่ต่างๆ สะท้อนให้เห็นว่าคนไทยเป็นคนที่มีสุนทรียะทั้งด้านการตกแต่งและการเพาะปลูกดอกไม้นานาพันธุ์ แต่นอกเหนือไปจากดอกไม้จริงที่มักใช้ดินในการปลูก ก็มีดอกไม้อีกประเภทที่ใช้ดินในการ ‘ประดิษฐ์’ ซึ่งมีความสวยงามไม่แพ้กัน จะต่างก็เพียงแค่ดอกไม้ชนิดนี้ไม่ห่อเหี่ยวลงตามกาลเวลา ดอกไม้ชนิดนี้เรียกว่า ‘ดอกไม้ดิน’ หรือ ‘Clay Flower’
ดอกไม้ดินคืองานฝีมือที่ต้องใช้ความปราณีตผสมผสานกับความสร้างสรรค์ เพื่อออกแบบและประดิษฐ์ดอกไม้ให้ออกมามีความสวยงาม แหล่งผลิตดอกไม้ดินที่น่าสนใจที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทยตั้งอยู่ที่จังหวัดพังงา ซึ่งกลุ่มผลิตดอกไม้ดินกลุ่มนี้มีความพิเศษคือเป็นกลุ่มที่ริเริ่มทำโดยชมรมผู้สูงอายุและข้าราชการเกษียณอายุ โดยมีจุดประสงค์เพื่อเป็นกิจกรรมยามว่าง
แต่ความสวยงามที่เกิดจากจากกิจกรรมยามว่างนี้แหละ ที่ทำให้ ‘วิทยาลัยชุมชนพังงา’ มองเห็นโอกาสในการพัฒนาที่จะทำให้ดอกไม้ดินเหล่านี้กลายมาเป็นผลิตภัณฑ์ที่ช่วยสร้างรายได้และอาชีพให้กับผู้ด้อยโอกาสในวงกว้างมากขึ้น ‘โครงการ การเสริมสร้างสมรรถนะเชิงการผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น/งานฝีมือท้องถิ่น กลุ่มผลิตดอกไม้ดินจังหวัดพังงา : การเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมของชุมชน’ จึงได้ถือกำเนิดขึ้นมาด้วยจุดประสงค์นี้
นอกจากกลุ่มผู้สูงอายุที่เลยวัยเกษียณไปแล้ว ‘แรงงานนอกระบบ’ ที่อยู่ในวัยทำงานยังมีอยู่อีกมากในสังคม ไม่ว่าจะเป็นแรงงานไร้ฝีมือ แม่บ้าน ผู้ยากไร้ หรือผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้คือกลุ่มที่ขาดโอกาสในการทำงานหรือผลิตผลงานที่ได้รับค่าตอบแทนที่เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจ การเปิดโครงการที่ช่วยฝึกทักษะ โดยเฉพาะทักษะที่เป็นงานฝีมือ จะสามารถเป็นทางเลือกให้กับคนเหล่านี้ในการหารายได้เสริมหรือประกอบอาชีพอิสระได้
วิทยาลัยชุมชนพังงาจึงได้ทำการคัดเลือกกลุ่มแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และผู้ด้อยโอกาสจำนวน 120 คน มาเข้าฝึกทักษะการทำดอกไม้ดิน โดยได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานในชุมชนหลายภาคส่วนไม่ว่าจะเป็น ภาคีเครือข่ายหลายแห่งทั้งวิทยาลัยชุมชนพังงา องค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านการทำดอกไม้ดินในชุมชนเอง
หลักสูตรการฝึกอบรมของโครงการฯ ผ่านการพัฒนาและวิพากษ์หลักสูตรจากผู้เชี่ยวชาญในชุมชนทั้ง 3 ด้าน ได้แก่ 1) สมรรถนะเชิงการผลิตผลิตภัณฑ์ดอกไม้ดิน ภายใต้กรอบความคิดการออกแบบและพัฒนาอย่างสร้างสรรค์ 2) สมรรถนะเชิงการตลาด การกำหนดราคา ช่องทางการจัดจำหน่ายและการนำเสนอผลิตภัณฑ์ดอกไม้ดิน และ 3) ทางเลือกในการเป็นผู้ผลิต ผู้จัดจำหน่าย หรือเป็นผู้ประกอบการธุรกิจชุมชนผลิตภัณฑ์ดอกไม้ดิน
แบบแผนการพัฒนาทักษะจะมีความเข้มข้นตั้งแต่การเลือกใช้วัตถุดิบ การประดิษฐ์ทุกขั้นตอน จนถึงการออกแบบบรรจุภัณฑ์ และการหาตลาดด้วย เรียกได้ว่าเมื่อเรียนจบก็สามารถนำไปประกอบอาชีพหลักอย่างจริงจังหรือทำเป็นอาชีพเสริมได้ทันที นอกจากนี้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมยังได้รับความรู้และฝึกทักษะการผลิตในการนำวัสดุท้องถิ่นมาประยุกต์ให้เข้ากับผลิตภัณฑ์ดอกไม้ดิน เพื่อเพิ่มมูลค่าและแสดงอัตลักษณ์ เอกลักษณ์ของแต่ละชุมชนอีกด้วย
ในปัจจุบัน ดอกไม้ดินเหล่านี้ยังคงเป็นที่นิยม โดยเฉพาะตลาดของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่ชื่นชอบความงามของดอกไม้และงานฝีมือที่ละเอียดอ่อน โครงการของวิทยาลัยชุมชนพังงาจึงนับว่าเป็นโครงการที่ตอบโจทย์ความต้องการนี้เป็นอย่างยิ่ง เพราะจังหวัดพังงานั้นอยู่ท่ามกลางนักท่องเที่ยวมากมาย โดยเฉพาะกลุ่มชาวต่างชาติที่มีกำลังซื้อสูง จึงทำให้ผู้เข้ารับการอบรมที่จบการฝึกทักษะออกไปมีโอกาสทางการตลาดสูงตามไปด้วย
นอกจากนี้โครงการสอนทักษะการทำดอกไม้ดิน ยังทำให้ได้เห็นว่าแรงบันดาลใจที่เกิดจากกิจกรรมเล็กๆ ยามว่างของคนกลุ่มหนึ่ง สามารถก่อให้เกิดแนวคิดต่อยอด จนเกิดเป็นแผนการพัฒนาเพื่อสร้างงานให้กับผู้ด้อยโอกาสได้ แค่เพียงมีคนมองเห็นคุณค่าและความเป็นไปได้ของสิ่งเล็กๆ เหล่านั้น เช่นเดียวกับที่วิทยาลัยชุมชนจังหวัดพังงามองเห็นประโยชน์จากการประดิษฐ์ดอกไม้ดินของกลุ่มผู้สูงอายุในชุมชนนั่นเอง
เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น
โครงการการเสริมสร้างสมรรถนะเชิงการผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น/งานฝีมือท้องถิ่น กลุ่มผลิตดอกไม้ดินจังหวัดพังงา : การเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมของชุมชน
ชื่อหน่วยงาน
จังหวัด
ปีโครงการ
ติดต่อ
เป้าประสงค์โครงการ
- สำรวจและวิเคราะห์ชุมชน
- พัฒนาทักษะเชิงการผลิตผลิตภัณฑ์ประเภทดอกไม้ดิน
- พัฒนาทักษะเชิงการตลาดผลิตภัณฑ์ประเภทดอกไม้ดิน
- พัฒนาทักษะการเป็นผู้ประกอบการธุรกิจชุมชน/ผลิตภัณฑ์ดอกไม้ดิน/ผลิตภัณฑ์ชุมชนอื่นๆ
- การเสริมสร้างทักษะการเรียนรู้ด้วยตนเอง การแก้ปัญหา การคิดสร้างสรรค์ การประยุกต์และต่อยอดองค์ความรู้
- การสร้างความร่วมมือระหว่างชุมชน หน่วยงานรัฐ เอกชน และวิทยาลัยชุมชน