วิทยาลัยชุมชนพังงาหยิบไอเดียประดิษฐ์ดอกไม้ดินของผู้สูงอายุในชุมชน มาทำโครงการฝึกทักษะอาชีพให้กับผู้ด้อยโอกาส

พังงา การแปรรูปผลิตภัณฑ์

สำหรับบางคนการประดิษฐ์ดอกไม้จากดินหอม หรือที่เรียกว่า ‘ดอกไม้ดิน’ อาจเป็นเพียงงานอดิเรกยามว่างเพื่อความเพลิดเพลินหรือคลายเหงา แต่สำหรับผู้ด้อยโอกาส เช่น ผู้ว่างงาน หรือผู้มีรายได้น้อยแล้ว อาจเป็นช่องทางสร้างอาชีพ สร้างรายได้ที่มั่นคง โดยเฉพาะในจังหวัดพังงา จากตอนแรกที่การประดิษฐ์ดอกไม้ดินนั้น ริเริ่มขึ้นโดยกลุ่มข้าราชการเกษียณอายุในชมรมผู้สูงอายุที่ใช้เวลาว่างในการจัดกิจกรรมสร้างเสริมทักษะและพัฒนาอาชีพให้กับผู้สูงอายุ ซึ่งยังจำกัดอยู่ในวงแคบๆ 

กลายเป็นจุดเริ่มต้นที่จุดประกายแนวคิดในการขยายผลเพื่อสร้างอาชีพให้แก่วิทยาลัยชุมชนพังงา เพราะนอกจากเสน่ห์ของดอกไม้ดินที่สวยงามราวกับของจริงแล้ว ยังสามารถเก็บรักษาไว้ได้นาน เหมาะต่อการเป็นของขวัญทรงคุณค่าในทุกเทศกาล ที่สำคัญยังสามารถนำมาใช้ต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์อื่นๆ ได้หลายมิติ 

วิทยาลัยชุมชนพังงา ได้จัดทำ “โครงการการเสริมสร้างสมรรถนะเชิงการผลิต การจัดจำหน่ายและการเป็นผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ชุมชนประเภทดอกไม้ดิน ในจังหวัดพังงา: การเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมของชุมชน” แก่ผู้ด้อยโอกาสในพื้นที่ เพื่อส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์จากงานปั้นดินสู่การพัฒนาอาชีพ ภายใต้การสนับสนุนของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)

จากกลุ่มเป้าหมายทั้งสิ้น 144 คน ส่วนใหญ่เป็นวัยกลางคน เป็นแม่บ้าน กลุ่มแรงงานนอกระบบ ผู้ว่างงาน รวมถึงผู้สูงอายุ ทางโครงการฯ ได้จัดหลักสูตรสอนเทคนิคต่างๆ เกี่ยวกับการประดิษฐ์ดอกไม้จากดินหอมที่จะช่วยต่อยอด เพื่อประยุกต์ต่อยอดไปสู่ผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย นอกจากสอนเทคนิคต่างๆ ทั้งการออกแบบรูปลักษณ์ การปั้น การย้อมสี และการไล่สี เป็นต้น รวมถึงจัดทำแผนอบรมทักษะเชิงการตลาด ทั้งการกำหนดราคา ช่องทางการจัดจำหน่าย รวมถึงการใช้สื่อออนไลน์เพื่อเพิ่มช่องทางในการจำหน่ายสินค้าด้วย โดยปัจจุบันทางกลุ่มโครงการฯ ได้ก่อตั้งเพจเฟซบุ๊กชื่อ “ดอกไม้ประดิษฐ์ดิน” เพื่อเป็นพื้นที่ในการลองภาคปฏิบัติของทางกลุ่มเป้าหมาย โดยหลังจากได้เปิดเพจขึ้นมานั้นก็มีลูกค้าและผู้สนใจเข้ามาสอบถามอย่างต่อเนื่อง 

นอกจากนั้นแล้ว โครงการฯ ยังได้เชิญวิทยากรจากภายนอกที่มีความรู้และประสบการณ์ เพื่อมาเปิดมุมมองใหม่ๆ ให้แก่สมาชิก เช่น เจ้าของสวนปัณฑริตา อำเภอลานสกา เป็นต้น รวมถึงได้รับการสนับสนุนจากเครือข่ายทุกภาคส่วนอย่างเข้มแข็ง ไม่ว่าจะจากชุมชน รัฐ หรือเอกชนเองก็ตาม 

จากที่กล่าวมาแสดงให้เห็นว่า โครงการฯ ยังไม่เพียงติดอาวุธรอบด้านในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้แก่คนในชุมชน แต่โครงการฯ ยังมอบเงินทุนสนับสนุนแก่กลุ่มสมาชิกที่มีศัยภาพในการสานต่อผลิตภัณฑ์ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งยังมุ่งหวังพัฒนาผลักดันสินค้าชุมชนที่มีคุณภาพให้ได้รับการคัดเลือกเป็น ‘ผลิตภัณฑ์โอทอป’ อีกด้วย

แน่นอนว่า ความสำเร็จที่หวังไว้อาจไม่ไกลเกินเอื้อมนัก เพราะทั้งกลุ่มเป้าหมาย ทีมงาน ชุมชน และภาคีต่างๆ ร่วมใจกันทำงานด้วยความมุ่งมั่นเต็มที่ โดยคาดหวังว่า กลุ่มเป้าหมายสามารถนำทุกองค์ความรู้สามารถเป็นเครื่องมือที่ช่วยพัฒนาศักยภาพทั้งในแง่ของกระบวนการผลิต การตลาด รวมถึงการพัฒนาทักษะความเป็นผู้ประกอบการธุรกิจชุมชน ซึ่งจะเป็นพื้นฐานต่อยอดได้ในทุกอาชีพได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน 

เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น

โครงการการเสริมสร้างสมรรถนะเชิงการผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น/งานฝีมือท้องถิ่น กลุ่มผลิตดอกไม้ดินจังหวัดพังงา : การเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมของชุมชน

ชื่อหน่วยงาน

วิทยาลัยชุมชนพังงา

จังหวัด

พังงา

ปีโครงการ

2562

ติดต่อ

ผู้ประสานงาน: นางสาวพวงเพชร ฤทธิพรพันธุ์
โทร: โทรศัพท์สำนักงาน 076-599-014 โทรศัพท์มือถือ 08-5437-7429 อีเมล์ : puangpet.r@pngcc.ac.th ไอดีไลน์ : jukmutt

เป้าประสงค์โครงการ

  1. สำรวจและวิเคราะห์ชุมชน
  2. พัฒนาทักษะเชิงการผลิตผลิตภัณฑ์ประเภทดอกไม้ดิน
  3. พัฒนาทักษะเชิงการตลาดผลิตภัณฑ์ประเภทดอกไม้ดิน
  4. พัฒนาทักษะการเป็นผู้ประกอบการธุรกิจชุมชน/ผลิตภัณฑ์ดอกไม้ดิน/ผลิตภัณฑ์ชุมชนอื่นๆ
  5. การเสริมสร้างทักษะการเรียนรู้ด้วยตนเอง การแก้ปัญหา การคิดสร้างสรรค์ การประยุกต์และต่อยอดองค์ความรู้
  6. การสร้างความร่วมมือระหว่างชุมชน หน่วยงานรัฐ เอกชน และวิทยาลัยชุมชน

เรื่องราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

กว่า 74 หน่วยงาน 42 จังหวัด กับ 1 เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มีศักยภาพ ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพแก่แรงงานด้อยโอกาส