วิทยาลัยชุมชนพิจิตรพัฒนา startup นวดแผนไทยที่ใช้แรงงานกลุ่มผู้สูงอายุ เพื่อรองรับกระแสนักท่องเที่ยวต่างชาติ
ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ ที่ศาสตร์แห่งการนวดแผนไทยโด่งดังไปทั่วโลก เพราะการนวดชนิดนี้ไม่ใช่แค่การนวดเพื่อผ่อนคลายหรือทำให้สบายตัวเท่านั้น แต่ยังเป็นศาสตร์ที่ว่าด้วยการรักษาอาการปวดเมื่อยที่สืบทอดต่อกันมาผ่านหมอนวดรุ่นสู่รุ่น ทั้งประโยชน์และความสบายที่ได้จากการนวด จึงทำให้ศาสตร์ของการนวดแผนไทยมีชื่อเสียงจนใครๆ ก็รู้จัก
กิจกรรมที่ชาวต่างชาติมักจะลิสต์ไว้เป็นอันดับต้นๆ เมื่อมาเที่ยวเมืองไทยคือการได้ลองสัมผัสการนวดแผนไทย ศาสตร์ที่เป็นความภูมิใจของชาตินี้จึงทำให้เกิดโอกาสทางธุรกิจขึ้นมากมาย โดยเฉพาะในพื้นที่แหล่งท่องเที่ยว อย่างที่เกิดขึ้นในอำเภอโพธิ์ประทับช้างและอำเภอโพทะเล จังหวัดพิจิตร ที่มีร้านนวดเกิดใหม่ขึ้นหลายแห่ง
เมื่อมีความต้องการ ก็จำเป็นจะต้องมีการผลิตหมอนวดที่จบศาสตร์การนวดไทยอย่างแท้จริงออกมาป้อนให้กับตลาด วิทยาลัยชุมชน จังหวัดพิจิตร ซึ่งเป็นแหล่งเรียนรู้ในชุมชนที่มีบทบาทในการสร้างความเข็มแข็งในพื้นที่ จึงได้สร้างสรรค์โครงการ ‘พัฒนาทักษะอาชีพนวดแผนไทยของแรงงานสูงอายุและผู้ด้อยโอกาส’ เพื่อตอบความต้องการของตลาดนวดไทยที่เติบโตขึ้น รวมถึงสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน โดยเฉพาะกลุ่มเป้าหมายที่เป็นผู้สูงอายุและผู้ด้อยโอกาสทั้งสิ้น 60 คน
ผู้อ่านอาจสงสัยว่าทำไมต้องเน้นที่ผู้สูงอายุ นั่นก็เพราะจังหวัดพิจิตรนับว่าเป็นจังหวัดที่มีสังคมผู้สูงอายุขนาดใหญ่ อ้างอิงตัวเลขจากเอกสารโครงการพบว่า จังหวัดพิจิตรมีประชากร 541,004 คน จากจำนวนนี้มีผู้สูงวัยที่มีอายุเกินกว่า 60 ปีถึง 104,862 คน คิดเป็นร้อยละ 19 จากประชากรทั้งหมดเลยทีเดียว เมื่อมีผู้สูงอายุมากขนาดนี้ทำให้จังหวัดและชุมชนต้องให้ความสำคัญกับคนกลุ่มนี้อย่างจริงจัง เช่น การอำนวยความสะดวก พื้นที่สาธารณะสำหรับผู้สูงวัย โอกาสทางอาชีพที่ทำให้พวกเขาเลี้ยงตัวเองได้ เป็นต้น
วิทยาลัยชุมชนฯ จึงจับมือกับเครือข่ายสำคัญอย่าง โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล และสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานพิจิตร เพื่อสร้างแนวทางการพัฒนาทักษะนวดแผนไทยที่เน้นการปฏบัติงานจริง โดยจะมีการอบรมตั้งแต่ทักษะการนวดแผนไทย เทคนิคต่างๆ ที่จำเป็น การพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการนวด การสร้างวัตกรรมที่จะช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าและบริการ เป็นต้น โดยวิทยาลัยชุมชนได้มองปลายทางไปถึงการพัฒนาให้พื้นที่ของสองอำเภอนี้กลายเป็น Startup ชุมชนแห่งการนวดแผนไทยในอนาคตด้วย
ประเทศไทยมีภูมิปัญญามากมายที่สามารถ ‘ขายได้’ หากนำมาใช้ได้อย่างถูกที่และถูกเวลา แต่การจะรักษาทักษะภูมิปัญญาเหล่านั้น จำเป็นต้องมีสิ่งที่เรียกว่า ‘คุณภาพ’ ด้วย เพราะไม่ว่าบริการหรือสินค้าของเราจะโด่งดังมากแค่ไหน หากคนที่ได้มาสัมผัสกลับได้รับของที่ไม่มีคุณภาพไป ชื่อเสียงเหล่านั้นก็จะค่อยๆ ลดน้อยลง การที่วิทยาลัยชุมชนฯ ริเริ่มโครงการที่สอดรับกับแหล่งท่องเที่ยวย่อมเป็นการช่วยให้มั่นใจได้ว่าแรงงานเหล่านี้จะเป็นบุคลากรที่มีคุณภาพ รู้ลึก รู้จริง ตรงกับความต้องการของตลาดอย่างแท้จริง
เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น
พัฒนาทักษะอาชีพนวดแผนไทยของแรงงานสูงอายุและผู้ด้อยโอกาส
ชื่อหน่วยงาน
จังหวัด
ปีโครงการ
ติดต่อ
เป้าประสงค์โครงการ
สร้างโอกาสที่เสมอภาคของแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสให้ได้รับการพัฒนายกระดับฝีมือแรงงานที่มีคุณภาพ ผลผลิต แรงงานสูงอายุและแรงงานด้อยโอกาสนอกภาคการศึกษามีทักษะฝีมือแรงงานนวดแผนไทยที่ได้รับการรับรองทักษะฝีมือ สามารถสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน