กลุ่มเยาวชน ‘กอนกวยโซดละเว’ จัดทำโครงการต่อลมหายใจผ้าไหมชาวกวย สืบสานวัฒนธรรม และสร้างอาชีพให้กลุ่มเยาวชนด้อยโอกาสในชุมชน

ศรีสะเกษ เกษตรกรรม

ความสวยงามอย่างหนึ่งของประเทศไทยก็คือเราเป็นชาติที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม โดยเฉพาะในแถบชายแดนที่มีกลุ่มชาติพันธุ์มากมายปะปนกันอยู่ในเขตแดนไทย ซึ่งเมื่อพวกเขาเข้ามาแล้ว เขาไม่ได้แค่นำเอาประชากรมาสร้างบ้านเรือนเพื่ออยู่อาศัยเท่านั้น แต่พวกเขาได้นำเอาวิถีชีวิต วัฒนธรรม และภูมิปัญญาเข้ามาด้วย

ในพื้นที่ของบ้านโพธิ์กะสังข์ อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ เป็นหมู่บ้านชายแดนที่มีอาณาเขตติดกับประเทศกัมพูชา ซึ่ง ณ พื้นที่แห่งนี้มีชุมชนชาวกวยอาศัยอยู่จำนวนหนึ่ง พวกเขามีวัฒนธรรมด้านภาษาเป็นของตัวเอง และมีวัฒนธรรมการแต่งกายด้วยชุดผ้าไหมพื้นบ้าน โดยประชาชนเหล่านี้ประกอบอาชีพเกษตรกรรมทำนาและทำไร่เป็นงานหลัก ส่วนในเวลาว่างเหล่าสตรีในชุมชนก็มักจะทอผ้าไหมเพื่อหารายได้เสริม ‘ผ้าทอโซดละเว’ หรือผ้าไหมของชาวกวยนั้น มีลวดลายที่สวยงามเป็นอัตลักษณ์ของท้องถิ่น ซึ่งเป็นที่ต้องการอย่างมากของตลาดผ้าไทย

แต่ถึงจะมีความต้องการซื้อสูง ปริมาณการผลิตกลับไม่เพียงพอที่จะตอบสนองความต้องการของตลาด เพราะในปัจจุบันปัญหาของกลุ่มสตรีทอผ้าชาวกวยคือพวกเขายังไม่มีเครื่องมือและแรงงานที่มากเพียงพอ ทำให้เกิดความล่าช้าไม่ทันตามความต้องการของลูกค้าและสูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจไปอย่างน่าเสียดาย

จากปัญหาของชุมชนที่เกิดขึ้น กลุ่มเยาวชนกอนกวยโซดละเว ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีองค์ความรู้ด้านการผลิตผ้าไหมโซดละเว จึงได้จัดทำโครงการ ‘ต่อลมหายใจผ้าไหมชาวกวยเพื่อสร้างรายได้ให้ชุมชน’ โดยมีเป้าหมายเป็นการฝึกฝนแรงงานฝีมือหน้าใหม่ให้มีความสามารถในการทอผ้าไหมและสร้างรายได้ให้กับตนเองและชุมชนได้

กลุ่มเป้าหมายของโครงการคือเยาวชนและผู้ด้อยโอกาสในชุมชนจำนวน 50 คน ซึ่งประกอบไปด้วย ผู้ด้อยโอกาสทางการศึกษา ผู้ว่างงาน เยาวชนที่มีฐานะยากจน และเยาวชนที่เรียนกศน. โดยสมาชิกทุกคนที่ได้รับการคัดเลือกเข้ามาในโครงการจะได้รับการปลูกฝังให้ตระหนักถึงความสำคัญในการสืบสานการทอผ้าไหมโซดละเว และจะมีการฝึกสอนกันตั้งแต่ทักษะการทอผ้าไหม การออกแบบลายผ้า และการพัฒนาต่อยอดผลงานให้มีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง โดยที่ยังคงอัตลักษณ์ของชาวกวยเอาไว้ ตลอดจนกระบวนการจัดจำหน่ายและทำตลาด เพื่อให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค

การจัดทำโครงการต่อลมหายใจผ้าไหมชาวกวยเพื่อสร้างรายได้ให้ชุมชนนี้ นอกจากจะช่วยแก้ไขปัญหาด้านกำลังการผลิตผ้าไหมโซดละเวแล้ว ยังช่วยสร้างร้ายได้ให้กับแรงงานหน้าใหม่ที่เป็นกลุ่มผู้ด้อยโอกาสอีกด้วย ทำให้พวกเขาสามารถสร้างอาชีพ สร้างความมั่นคงทางเศรฐกิจให้กับตนเองและชุมชน ซึ่งเมื่อคนกลุ่มนี้มีความแข็งแรง พวกเขาก็สามารถที่จะเป็นกำลังสำคัญในการสืบสานอนุรักษ์ลายผ้าไหมของชาวกวยต่อไปในอนาคต

เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น

ต่อลมหายใจผ้าไหมชาวกวยเพื่อสร้างรายได้ให้ชุมชน

ชื่อหน่วยงาน

กลุ่มเยาวชนกอนกวยโซดละเว

จังหวัด

ศรีสะเกษ

ปีโครงการ

2562

ติดต่อ

ผู้ประสานงาน: สิบเอกวินัย โพธิสาร
โทร: 098-5972149

เป้าประสงค์โครงการ

สร้างโอกาสที่เสมอภาคของแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสให้ได้รับการพัฒนายกระดับฝีมือแรงงานที่มีคุณภาพเป็นการพัฒนายกระดับให้เยาวชนชุมชนมีฝีมือในด้านการทอผ้าไหมเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาด

เรื่องราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

กว่า 74 หน่วยงาน 42 จังหวัด กับ 1 เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มีศักยภาพ ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพแก่แรงงานด้อยโอกาส