ศูนย์เรียนรู้บ้านโนนพริก แก้ปัญหาขาดแคลนพืชผักและเนื้อสัตว์ที่ปลอดภัยในชุมชน ด้วยการยกระดับทักษะของเกษตรกรจากกลุ่มผู้ด้อยโอกาส

ขอนแก่น เกษตรกรรม

แม้ประเทศไทยจะมีชื่อเสียงด้านสินค้าการเกษตร จนได้ชื่อว่าเป็น ‘อู่ข้าวอู่น้ำ’ ของภูมิภาค ซึ่งชื่อเสียงนี้ได้มาจากความต่อเนื่องของการส่งออกผลผลิตที่มีคุณภาพสูงสู่ตลาดต่างประเทศ แต่ขณะเดียวกันในอู่ข้าวอู่น้ำแห่งนี้ กลับมีหลายพื้นที่ในชนบท ที่ประสบปัญหาการขาดแคลนพืชผลและเนื้อสัตว์ทางการเกษตรที่มีคุณภาพ

อำเภอพล จังหวัดขอนแก่น เป็นหนึ่งในพื้นที่ที่ขาดแคลนผลผลิตพืชผักและเนื้อสัตว์ที่ปลอดภัย ทั้งในด้านของปริมาณ คุณภาพ และความต่อเนื่องของผลผลิต จนต้องทำให้หลายครั้ง ห้างร้านหรือตลาดสด ต้องนำเข้าวัตถุดิบเหล่านั้นจากต่างพื้นที่มาขายคนในอำเภอ ทำให้เงินที่เคยหมุนเวียนอยู่ในชุมชนต้องรั่วไหลออกไปอย่างน่าเสียดาย

ศูนย์เรียนรู้ปราชญ์ชาวบ้าน (บ้านโนนพริก) ซึ่งเป็นแหล่งเรียนรู้ที่ทำงานกับชุมชนมาเป็นระยะเวลานาน ได้พยายามหาทางออกของปัญหานี้อย่างยั่งยืน ซึ่งก็คงไม่มีวิธีไหนดีไปกว่าการสร้างเกษตรกรคุณภาพออกมาเพิ่มเติม เพื่อเพิ่มปริมาณการผลิตพืชผักและเนื้อสัตว์ที่ปลอดภัยภายในชุมชนเอง

จากข้อมูลของภาครัฐบ่งชี้ว่าประชากรในอำเภอพลมีผู้ที่เป็นแรงงานนอกระบบ ผู้ว่างงาน ผู้สูงอายุ และผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ อาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งปัญหาของกลุ่มคนด้อยโอกาสเหล่านี้ล้วนแต่มีสาเหตุมาจากการขาดแคลนทุนทรัพย์และขาดโอกาสในการเข้าถึงปัจจัยการผลิต

เมื่อข้อมูลออกมาเช่นนี้ ศูนย์เรียนรู้บ้านโนนพริกจึงได้เห็นกลุ่มเป้าหมายในการพัฒนาที่ชัดเจนขึ้น นั่นคือการหยิบยื่นโอกาสแก่กลุ่มคนที่กล่าวถึงในข้างต้นมา เพื่อฝึกฝนพวกเขาให้เป็นแรงงานคุณภาพที่สามารถผลิตพืชผลและเนื้อสัตว์ที่ปลอดภัยป้อนให้กับชุมชนในอำเภอพล ‘โครงการการยกระดับการประกอบอาชีพเสริมด้วยเทคโนโลยีเกษตรผสมผสานระบบอินทรีย์’ จึงได้ถือกำเนิดขึ้นมาเพื่อเป็นแนวทางพัฒนาทักษะของประชากรด้อยโอกาสในพื้นที่

หากมองในแง่ของต้นทุนที่มีอยู่แล้วในอำเภอพลนั้น พบว่ามีต้นทุนอีกหลายด้านที่สามารถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้อย่างมาก เช่น ทุนทางกายภาพอย่างเรื่องของภูมิศาสตร์ อำเภอพลตั้งอยู่ระหว่างรอยต่อของจังหวัดขอนแก่นและจังหวัดนครราชสีมา โดยมีถนนมิตรภาพตัดผ่าน ทำให้อำเภอพลสามารถเป็นศูนย์กลางในการทำการค้าระหว่างอำเภอใหญ่ๆ ได้ ในด้านของทุนทางสังคม อำเภอพลมีปราชญ์ชาวบ้านผู้เชี่ยวชาญการบริหารจัดการเกษตรระบบผสมผสาน นอกจากนี้อำเภอพลยังมีสถานศึกษาด้านวิชาชีพที่มีความพร้อมเรื่องอุปกรณ์ บุคลากร และสถานที่สนับสนุนอย่างดีเยี่ยมอีกด้วย

โครงการการยกระดับการประกอบอาชีพเสริมด้วยเทคโนโลยีเกษตรผสมผสานระบบอินทรีย์ จะทำการคัดเลือกเกษตรกรที่ขาดโอกาสจาก 3 ตำบลในอำเภอพล จังหวัดขอนแก่น โดยประกอบไปด้วยแรงงานนอกระบบ 20 คน ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 2 คน ผู้ว่างงาน 11 คน และกลุ่มวิสาหกิจชุมชน 17 คน รวมกลุ่มเป้าหมายทั้งสิ้น 50 คน

ในการดำเนินงานพัฒนาทักษะ ศูนย์เรียนรู้บ้านโนนพริกจะมุ่งฝึกฝนอาชีพเสริมด้านการปลูกพืชผักและเลี้ยงสัตว์ให้แก่สมาชิก โดยจะมีการปูพื้นฐานจากทัศนคติด้านการทำเกษตรอินทรีย์ ไปจนถึงทักษะเชิงปฏิบัติในการทำเกษตรครบวงจร เช่น การออกแบบแปลง การคัดเลือกพันธุ์ การผลิตปุ๋ยอินทรีย์ การแปรรูปผลิตภัณฑ์ ไปจนถึงส่วนของความรู้ปลายน้ำอย่าง การจัดจำหน่ายสินค้าในช่องทางต่างๆ

การร่วมมือกันของศูนย์เรียนรู้บ้านโนนพริกกับหน่วยงานที่เชี่ยวชาญด้านการเกษตรในชุมชน ทำให้โครงการนี้มีความพร้อมในหลายด้าน และเป็นแนวทางที่สะท้อนให้เห็นว่าการแก้ปัญหาในชุมชนนั้นสามารถเริ่มได้จากตัวประชากรในชุมชนเอง เพียงแค่องค์กรที่เกี่ยวข้องหยิบยื่นโอกาสและเสริมองค์ความรู้ที่จำเป็นให้กับพวกเขา ซึ่งโครงการการยกระดับการประกอบอาชีพเสริมด้วยเทคโนโลยีเกษตรผสมผสานระบบอินทรีย์ นี้นอกจากจะเป็นการแก้ปัญหาการขาดแคลนพืชผลและเนื้อสัตว์ที่ปลอดภัยในชุมชนแล้ว ยังช่วยสร้างอาชีพให้กับเกษตรกรในพื้นที่ และทำให้เม็ดเงินเกิดการหมุนเวียนในชุมชนโดยที่ไม่รั่วไหลไปยังอำเภอหรือจังหวัดอื่นด้วย

เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น

การยกระดับการประกอบอาชีพเสริมด้วยเทคโนโลยีเกษตรผสมผสานระบบอินทรีย์

ชื่อหน่วยงาน

ศูนย์เรียนรู้ปราชญ์ชาวบ้าน บ้านโนนพริก

จังหวัด

ขอนแก่น

ปีโครงการ

2562

ติดต่อ

ผู้ประสานงาน: นายสุรพงษ์ ด่านซ้าย
โทร: 089-9207805

เป้าประสงค์โครงการ

  1. ยกระดับองค์ความรู้ ทักษะ และเจตคติการประกอบอาชีพเสริมพืชผัก และหรือสัตว์แบบครบวงจร ด้วยเทคโนโลยีเกษตรผสมผสานระบบอินทรีย์  มุ่งเน้นการฝึกปฏิบัติในสภาพจริง
  2. เสริมสร้างเครือข่ายความร่วมมือการบริหารจัดการ  และการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมเชิงบูรณาการ

เรื่องราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

กว่า 74 หน่วยงาน 42 จังหวัด กับ 1 เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มีศักยภาพ ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพแก่แรงงานด้อยโอกาส