ศูนย์เรียนรู้บ้านโนนพริก แก้ปัญหาขาดแคลนพืชผักและเนื้อสัตว์ที่ปลอดภัยในชุมชน ด้วยการยกระดับทักษะของเกษตรกรจากกลุ่มผู้ด้อยโอกาส
ศูนย์เรียนรู้ปราชญ์ชาวบ้าน (บ้านโนนพริก) คือแหล่งเรียนรู้ที่ทำงานอยู่กับชุมชนในจังหวัดขอนแก่นมาเป็นระยะเวลานาน โดยที่ผ่านมาก็ได้มีการฝึกฝนอบรมสร้างงานสร้างอาชีพให้กับคนในชุมชนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งศูนย์เรียนรู้แห่งนี้มีจุดแข็งอยู่ตรงที่มีภาคีเครือข่ายกว้างขวางทั้งหน่วยงานภาครัฐละเอกชน ทำให้สามารถบูรณาการความร่วมมือได้หลายมิติเพื่อช่วยแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในชุมชน
ในช่วงเวลาที่ผ่านมาศูนย์เรียนรู้ฯ บ้านโนนพริกพบว่าคนในพื้นที่อำเภอพล จังหวัดขอนแก่นได้ประสบกับการขาดแคลนผลผลิตทางการเกษตรและเนื้อสัตว์ ทำให้ชุมชนต้องใช้วิธีการซื้อผลผลิตจากพื้นที่ข้างนอก ส่งผลให้เม็ดเงินรั่วไหลจากพื้นที่ไปอย่างน่าเสียดาย ศูนย์เรียนรู้ปราชญ์ชาวบ้านบ้านโนนพริก จึงได้จัดทำโครงการที่จะช่วยสร้างแรงงานด้านการเกษตรที่มีคุณภาพออกมาเพิ่มขึ้น เพื่อเพิ่มจำนวนผู้ผลิตและผลผลิตให้มีเพียงพอสำหรับการบริโภคในชุมชน
โครงการนี้ประจวบเหมาะกับแนวทางพัฒนาของตัวอำเภอเองที่เล็งเห็นจุดเด่นของอำเภอที่มีที่ตั้งทางภูมิศาสตร์เป็นศูนย์กลางในการทำการค้าของอำเภอใกล้เคียง โดยมีเป้าหมายในการสร้างเกษตรกรรายใหม่ในโครงการเกษตรอินทรีย์ แต่ที่ผ่านมาก็ยังไม่สามารถที่จะยกระดับพืชผลและสัตว์เกษตรอินทรีย์ให้มีปริมาณและคุณภาพได้ตามความต้องการของผู้บริโภค ศูนย์เรียนรู้ปราชญ์ชาวบ้าน (บ้านโนนพริก) จึงได้รับแรงสนับสนุนจากอำเภอในการจัดทำโครงการนี้อย่างเต็มที่ในการพัฒนาเพื่อไปสู่เป้าหมายร่วมกัน
กลุ่มเป้าหมายของโครงการเป็นแรงงานนอกระบบจำนวน 20 คน ผู้ว่างงาน 11 คน ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 2 คน รวมกับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนอีก 17 คน รวมทั้งสิ้น 50 คน ซึ่งหลังจากที่ได้สมาชิกมาร่วมโครงการครบตามเป้าหมายแล้ว ก็ได้ทำการสำรวจความต้องการของคนกลุ่มนี้อีกครั้งว่าพวกเขาสนใจฝึกฝนทักษะอาชีพด้านใดบ้าง โดยสมาชิกทุกคนมีความสนใจการเรียนรู้รูปแบบของเกษตรสมัยใหม่ที่จะช่วยสร้างรายได้ให้กับพวกเขามากขึ้น
ทีมงานของศูนย์เรียนรู้ปราชญ์ชาวบ้านบ้านโนนพริก จึงได้ออกแบบการเรียนรู้โดยใช้กลุ่มเป้าหมายเป็นศูนย์กลางและได้หลักสูตรที่ครอบคลุมความต้องการของพวกเขา ไม่ว่าจะเป็นการยกระดับการประกอบอาชีพเสริมด้วยเทคโนโลยีเกษตรผสมผสานระบบอินทรีย์ การออกแบบแปลงในสภาพแวดล้อมระบบอินทรีย์ การตรวจสอบค่าของน้ำและการให้น้ำที่เหมาะสม การเพาะกล้า การปลูกพืช การผลิตและการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ การใช้และผลิตอาหารสัตว์ รวมถึงการเสริมสร้างทัศนคติการดำเนินชีวิต
หลังจากที่โครงการได้ดำเนินงานมาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว สมาชิกก็ได้มีความก้าวหน้าในเชิงองค์ความรู้และทักษะกว่าตอนก่อนเข้าร่วมโครงการ เช่นการมีความรู้และทักษะมากขึ้นในการประกอบอาชีพเสริม อย่างเช่น ปลูกผัก เลี้ยงปลานิล โดยใช้องค์ความรู้ที่ได้รับจากการฝึกอบรม เช่น การทำปุ๋ยอินทรีย์ การเพาะกล้า การทำแปลงปลูกผัก การดูแล รักษาเลี้ยงสัตว์เบื้องต้น เป็นต้น
นอกจากนี้ในด้านของทัศนคติ สมาชิกโครงการก็มีความเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นคือมีความตั้งใจ กระตือรือร้น อดทน มุ่งมั่น และขยันในการเรียนรู้และลงพื้นที่ดำเนินกิจกรรมที่แปลงของตนเองอย่างต่อเนื่อง นี่จึงนับว่าเป็นความก้าวหน้าที่สำคัญซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงประสิทธิภาพและความสามารถของหน่วยงานพัฒนาที่มีบทบาทในการแก้ปัญหาของชุมชน และช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น
การยกระดับการประกอบอาชีพเสริมด้วยเทคโนโลยีเกษตรผสมผสานระบบอินทรีย์
ชื่อหน่วยงาน
จังหวัด
ปีโครงการ
ติดต่อ
เป้าประสงค์โครงการ
- ยกระดับองค์ความรู้ ทักษะ และเจตคติการประกอบอาชีพเสริมพืชผัก และหรือสัตว์แบบครบวงจร ด้วยเทคโนโลยีเกษตรผสมผสานระบบอินทรีย์ มุ่งเน้นการฝึกปฏิบัติในสภาพจริง
- เสริมสร้างเครือข่ายความร่วมมือการบริหารจัดการ และการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมเชิงบูรณาการ