วิสาหกิจชุมชนแม่นาจร ‘ยืนหยัดในวิถีอินทรีย์’ ผ่านโครงการที่จะช่วยพัฒนาฝีมือเกษตรกรให้สามารถผลิต แปรรูป และขายได้อย่างครบวงจร

เชียงใหม่ งานหัตถกรรมและฝีมือ

ยุคสมัยนี้เป็นยุคสมัยที่คนเลือกกินกันมากขึ้น ส่วนหนึ่งเพราะตัวเลือกในตลาดมีหลากหลายกว่าเดิม อีกส่วนคือกระแสการดูแลโลกและดูแลสุขภาพ ทำให้คนกลุ่มหนึ่งที่มีกำลังซื้อมักจะเลือกของกินที่มีประโยชน์ ปลอดสารเคมี และไม่ทำร้ายสิ่งแวดล้อม ซึ่ง ‘ผักอินทรีย์’ นับว่าตอบโจทย์ความต้องการของคนกลุ่มนี้ในทุกข้อ

ผักอินทรีย์ คือพืชผักที่ได้รับการปลูกตามกระบวนการทางธรรมชาติ กล่าวคือมีการปลูกบนดินที่ไม่มีสารเคมีเจือปน ไม่มีการพ่นยาฆ่าแมลง หรือยาเร่งการเติบโตของผลผลิตด้วยสารเคมีต่างๆ อาศัยเพียงน้ำ ลม แสงแดด และสมุนไพรจากธรรมชาติในการดูแลและกำจัดศัตรูพืชเท่านั้น

หลายปีที่ผ่านมาการปลูกผักอันทรีย์ได้พ่ายแพ้ต่อวิถีของสารเคมีอย่างราบคาบ เนื่องด้วยการปลูกแบบธรรมชาตินั้นมีความไม่แน่นอนทั้งเรื่องของจำนวนผลผลิต หน้าตาของพืชผลที่อาจไม่สวยงามจากการมากัดกินของแมลง ทำให้เกษตรกรหันไปหาสารเคมีที่การันตีผลลัพธ์ได้มากกว่า แต่การหันไปหาเคมีนั้นก็ไม่ต่างจากการติดกับดักของนายทุนเจ้าของแบรนด์สารเคมีต่างๆ เพราะเมื่อเริ่มใช้ครั้งหนึ่งแล้วก็จะต้องใช้ต่อๆ ไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งนอกจากเรื่องของต้นทุนที่เพิ่มขึ้นแล้ว การทำเกษตรวิถีเคมียังส่งผลเสียต่อสุขภาพของผู้เกษตรและผู้บริโภคด้วย

ปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นกับเกษตรกรทั่วประเทศ เช่น เดียวกับที่เกิดขึ้นในหมู่บ้านห้วยขมิ้น ตำบลแม่นาจร อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นหมู่บ้านของชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ ประชากรในหมู่บ้านนี้ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเชิงเดี่ยว เช่น การปลูกผักสลัดผักกาดขาวปลี ลูกพลับ พลัม บ๊วย และอะโวคาโด ซึ่งมักจะมีการใช้สารเคมีอย่างยาฆ่าหญ้า สารเคมีไล่แมลง และปุ๋ยเคมี ทำให้ทุกวันนี้เกษตรกรต้องเผชิญกับปัญหาสุขภาพ และต้นทุนในการผลิตที่สูงขึ้นจากราคาสารเคมี

ราว 5 ปีก่อน วิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์ตำบลแม่นาจรได้ถือกำเนิดขึ้นมาในชุมชนห้วยขมิ้น โดยมีที่มาจากการรวมตัวของเกษตรกรรุ่นใหม่ในพื้นที่ที่นำเอาแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่เข้ามาเผยแพร่ในหมู่บ้านโดยคาดหวังการดึงคนรุ่นใหม่กลับบ้านเกิดด้วยการสร้างฐานอาชีพที่มั่นคงในชุมชน เกิดการจ้างงานคนในชุมชนตามความสามารถและก่อให้เกิดรายได้

จากวันนั้นวิสาหกิจกลุ่มนี้ก็ค่อยๆ โน้มน้าวชักชวนชาวบ้านให้เปลี่ยนรูปแบบการทำเกษตรกรรมจากวิถีเคมีไปสู่วิถีอินทรีย์ ซึ่งก็ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจนทำให้ในปัจจุบันกลุ่มวิสาหกิจฯ แม่นาจร มีจำนวนสมาชิกทั้งหมดถึง 50 ราย

แต่การทำเกษตรอินทรีย์ของวิสาหกิจชุมชนกลุ่มนี้ก็ยังประสบอุปสรรคและปัญหาอยู่บ้าง เช่น จัดจำหน่ายผลผลิตในแต่ละฤดูกาลได้ไม่หมด หรือผลผลิตที่ส่งให้ลูกค้าเกิดความเสียหาย ซึ่งสาเหตุของปัญหาเหล่านี้คือทีมเกษตรกรในชุมชนยังขาดความรู้ด้านการบริหารจัดการ และขาดอุปกรณ์การผลิตและบรรจุภัณฑ์ที่มีคุณภาพ

จากจุดนี้จึงทำให้วิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์ตำบลแม่นาจรได้จัดโครงการ ‘การพัฒนาศักยภาพกลุ่มผู้ผลิตไม้ผลเมืองหนาวอินทรีย์บ้านห้วยขมิ้น’ ขึ้น เพื่อขยับขยายกลุ่มให้มีความสามารถในการผลิต แปรรูปสินค้า และเพิ่มช่องทางการตลาด เพื่อสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับชุมชนมากขึ้น

โครงการนี้ได้ร่วมมือกับหน่วยงานที่มีองค์ความรู้อย่าง โครงการหลวง สำนักงานเกษตรอำเภอ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ และมูลนิธิรักษ์ดิน รักษ์น้ำ เพื่อความช่วยเหลือด้านการอบรมและวางแผนการพัฒนาทักษะร่วมกัน รวมไปถึงการประสานงานกับสามพรานโมเดล ซึ่งเป็นเป็นตลาดรองรับผลผลิตและรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์สากล เพื่อเตรียมตัวสำหรับการจัดจำหน่ายสินค้าในอนาคต โดยทีมของโครงการได้วางกลุ่มเป้าหมายเป็นกลุ่มคนด้อยโอกาสในชุมชน ซึ่งประกอบไปด้วย แรงงานนอกระบบ ผู้สืบบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ผู้ว่างงาน และผู้สูงอายุ รวมทั้งสิ้น 150 คน

กลุ่มสมาชิกที่เข้ามาร่วมโครงการจะได้รับการฝึกฝนอบรมความรู้ในการทำเกษตรอินทรีย์ ตั้งแต่กระบวนการต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ โดยจะเจาะจงไปที่พืชเมืองหนาว 3 ชนิดคือ กาแฟอาราบิก้า ลูกพลับ และสตรอว์เบอร์รี ซึ่งเกษตรกรจะได้เรียนวิธีการปลูก การแปรรูปผลิตภัณฑ์ การสร้างมูลค่าเพิ่มผ่านแบรนด์สินค้า และช่องทางการจัดจำหน่ายอย่างครบวงจร

การที่โครงการนี้มีภาคีเครือข่ายที่มีประสบการณ์ในการทำงานเกษตรอินทรีย์มาอย่างยาวนาน ทำให้มั่นใจได้ว่าองค์ความรู้ที่เกิดการแบ่งปันแลกเปลี่ยนในครั้งนี้ จะช่วยให้กลุ่มวิสาหกิจชุมชนและกลุ่มเกษตรกรผู้ด้อยโอกาสที่เข้ามาร่วมฝึกฝนในโครงการ เกิดความรู้ความเข้าใจและมีทักษะใหม่ๆ ที่จะยกระดับการผลิต การแปรรูป และการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากสวน ไร่ นา ของตัวเอง ทำให้เกษตรอินทรีย์ภายในชุมชนสามารถยืนหยัดในวิถีนี้ต่อไปได้อย่างยั่งยืน

เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น

การพัฒนาศักยภาพกลุ่มผู้ผลิตไม้ผลเมืองหนาวอินทรีย์บ้านห้วยขมิ้น ตำบลแม่นาจร อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่

ชื่อหน่วยงาน

วิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์ตำบลแม่นาจร

จังหวัด

เชียงใหม่

ปีโครงการ

2562

ติดต่อ

ผู้ประสานงาน: นายวัฒนา ทรงพรไพศาล
โทร: 082-8966752

เป้าประสงค์โครงการ

  1. กลุ่มเกษตรมีศักยภาพในการจัดการผลผลิตเกษตรเกษตรอินทรีย์ โดยกระบวนการแปรรูปผลผลิตได้อย่างมีคุณภาพ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
  2. เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมของกลุ่มเกษตรกรในการจัดการแปรรูปผลผลิตเกษตรอินทรีย์ให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น
  3. กลุ่มเกษตรกรมีความรู้ความความเข้าใจในการแปรรูปผลผลิตเกษตรอินทรีย์

เรื่องราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

กว่า 74 หน่วยงาน 42 จังหวัด กับ 1 เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มีศักยภาพ ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพแก่แรงงานด้อยโอกาส