วิสาหกิจชุมชนแม่นาจร ‘ยืนหยัดในวิถีอินทรีย์’ ผ่านโครงการที่จะช่วยพัฒนาฝีมือเกษตรกรให้สามารถผลิต แปรรูป และขายได้อย่างครบวงจร

เชียงใหม่ งานหัตถกรรมและฝีมือ

จังหวัดเชียงใหม่เป็นหนึ่งในจังหวัดที่ปลูกพืชพรรณเมืองหนาวได้งดงาม เพราะด้วยสภาพอากาศและอุณหภูมิที่ต่ำกว่าพื้นที่อื่น โดยเฉพาะบนภูเขาหรือดอยสูง ทำให้สามารถปลูกผลไม้หรือพืชเมืองหนาว ที่ไม่สามารถปลูกในพื้นที่อื่นๆ ของประเทศไทยได้ แต่หลายครั้งเรามักได้ยินว่าเกษตรกรส่วนใหญ่เลือกใช้สารเคมีในการดูแลรักษาพืชพรรณเหล่านั้น เพื่อเพิ่มปริมาณผลผลิต รวมถึงเพิ่มมูลค่าจากความสวยงามของหน้าตาผลผลิตด้วย

โครงการพัฒนาศักยภาพฯ ที่จัดขึ้นโดยวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์ตำบลแม่นาจร จึงได้ก่อตั้งขึ้นมาพร้อมกันเป้าประสงค์ในการยกระดับเกษตรกรในพื้นที่ให้มีทักษะและช่องทางการหารายได้จากการทำเกษตรอินทรีย์ที่ ยั่งยืน ผ่านการทำการตลาดและบริหารตลาดสินค้าเกษตร ขณะเดียวกันก็ยังมองไปถึงความสำคัญของการแปรรูปผลไม้เมืองหนาวเหล่านั้นให้มีมูลค่ามากยิ่งขึ้นด้วยวิธีการที่ปลอดภัย ไร้สารเคมี

กลุ่มเป้าหมายของโครงการอยู่ในพื้นที่ของหมู่บ้านห้วยขมิ้น ซึ่งมีประชากรส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ปกาเกอะญอที่ประกอบอาชีพเกษตรกร โดยมีการทำไร่นาตลอดทั้งปี เช่น ผักสลัด ผลไม้เมืองหนาว กาแฟ อะโวคาโด เป็นต้น ต้นทุนที่ชุมชนแห่งนี้มีคือเป็นชุมชนที่มีความแข็งแรงในวิถีเกษตรอินทรีย์มาอยู่แล้ว โดยกลุ่มเกษตรกรมีการปลูกพืชที่หลากหลาย รวมถึงมีตลาดขนาดใหญ่รองรับสินค้า ทว่าคนในชุมชนยังขาดความรู้ด้านการบริหารจัดการการตลาด รวมถึงการขนส่งสินค้าที่มีประสิทธิภาพ โครงการจึงได้เข้าไปช่วยเติมเต็มในส่วนนี้ โดยเปิดรับสมาชิกเข้าอบรมฝึกฝนจำนวน 150 คน ซึ่งประกอบไปด้วยแรงงานนอกระบบ 100 คน ผู้สูงอายุ 20 คน ผู้ว่างงาน 20 คน และผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 10 คน

หลังจากที่โครงการมีสมาชิกครบตามจำนวนที่คาดหวังแล้ว ก็เริ่มดำเนินงานตามแผนพัฒนาที่วางไว้ ไม่ว่าจะเป็น
การอบรมเพื่อวิเคราะห์ปัญหาและการวางแผนการบริหารจัดการไม้ผลเมืองหนาวในช่วงฤดูเก็บเกี่ยว ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับกาแฟอาราบิก้า/ลูกพลับ/สตรอว์เบอร์รี การฝึกอบรมระบบการรับรองมาตรฐาน การแปรรูปกาแฟอาราบิก้า โดยตลอดหลักสูตรจะมีวิทยากรที่มีความรู้เชี่ยวชาญในทักษะนั้นมาเป็นผู้แนะแนวและฝึกสอน ทำให้กลุ่มสมาชิกได้รับองค์ความรู้จากผู้มีประสบการณ์อย่างแท้จริงหนึ่งในสมาชิกของโครงการได้เล่าถึงความประทับใจต่อกระบวนการพัฒนาทักษะของโครงการว่า “ผมคิดว่า โครงการนี้เป็นการเปิดโอกาสให้ชาวบ้านได้ลองทำ ลองเรียนรู้ทั้งเรื่องการทำเกษตรอินทรีย์ การแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร ที่เป็นการสร้างคุณค่าในตนเอง และคุณค่าต่อชุมชน อีกทั้งยังช่วยลดความเหลื่อมล้ำในชุมชนลงได้ด้วย”

ถึงแม้การทำเกษตรอินทรีย์จะยังไม่สามารถแพร่หลายไปสู่เกษตรกรทุกภูมิภาคได้ แต่ก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจที่ได้เห็นว่าภาคส่วนเล็กๆ อย่างพื้นที่บ้านห้วยขมิ้นกำลังปลูกฝังแนวคิดเกษตรปลอดภัยอย่างเข้มข้น ซึ่งต่อไปเมื่อเกษตรกรในพื้นที่ใกล้เคียงเห็นว่าตลาดของพืชผักอินทรีย์มีมูลค่าและเป็นที่ต้องการมากขึ้น โครงการและหน่วยงานพัฒนาแห่งนี้ก็จะกลายมาเป็น ‘ศูนย์กลาง’ ในการผลิตเกษตรกรวิถีอินทรีย์ต่อไป ซึ่งนี่ก็เป็นหนึ่งในเป้าหมายของวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์ตำบลแม่นาจร จังหวัด เชียงใหม่ ที่ต้องการส่งต่อคุณภาพชีวิตที่ดีตั้งแต่เกษตรกรไปจนถึงผู้บริโภคอย่างครบวงจร

เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น

การพัฒนาศักยภาพกลุ่มผู้ผลิตไม้ผลเมืองหนาวอินทรีย์บ้านห้วยขมิ้น ตำบลแม่นาจร อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่

ชื่อหน่วยงาน

วิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์ตำบลแม่นาจร

จังหวัด

เชียงใหม่

ปีโครงการ

2562

ติดต่อ

ผู้ประสานงาน: นายวัฒนา ทรงพรไพศาล
โทร: 082-8966752

เป้าประสงค์โครงการ

  1. กลุ่มเกษตรมีศักยภาพในการจัดการผลผลิตเกษตรเกษตรอินทรีย์ โดยกระบวนการแปรรูปผลผลิตได้อย่างมีคุณภาพ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
  2. เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมของกลุ่มเกษตรกรในการจัดการแปรรูปผลผลิตเกษตรอินทรีย์ให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น
  3. กลุ่มเกษตรกรมีความรู้ความความเข้าใจในการแปรรูปผลผลิตเกษตรอินทรีย์

เรื่องราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

กว่า 74 หน่วยงาน 42 จังหวัด กับ 1 เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มีศักยภาพ ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพแก่แรงงานด้อยโอกาส