ม.ราชภัฏสุราษฎร์ออกโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ แก้ปัญหาความมั่นคงทางอาหารและรายได้ให้ชุมชนชนอ่าวบ้านดอน

สุราษฎร์ธานี การแปรรูปผลิตภัณฑ์

สำหรับคนที่เกิดมาใกล้ชิดกับทะเล มหาสุทรอันกว้างใหญ่นั้นเป็นทั้งขุมทรัพย์ แหล่งอาหาร และ วิถีชีวิต แต่ขณะเดียวกันทะเลก็มีความไม่แน่นอน ผันผวน และสร้างความอันตรายจนคาดไม่ถึงได้เสมอ เหล่าคนที่อาศัยอยู่ใกล้ชิดกับทะเล จึงต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับทะเล และสร้างประโยชน์จากผืนน้ำอันกว้างใหญ่นี้ให้ได้

ชุมชนอ่าวบ้านดอน คือพื้นที่ติดทะเลแห่งหนึ่งในจังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่กำลังประสบปัญหาด้านความมั่นคงทางอาหาร เพราะคนในชุมชนต่างต้องอาศัยการซื้อจากแหล่งผลิต ซึ่งถ้าหากวันหนึ่งแหล่งผลิตไม่สามารถผลิตออกมาได้อย่างเพียงพอ สถานการณ์ขาดแคลนวัตถุดิบก็จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน ยกตัวอย่างเช่น หากเกิดพายุมรสุมในทะเลจนไม่สามารถเดินเรือออกไปจับปลาเพื่อมาขายในตลาดได้ ครัวเรือนในชุมชนก็จะขาดแคลนอาหาร ขณะเดียวกันกลุ่มที่ทำอาชีพประมงก็จะขาดรายได้และเกิดปัญหาทางเศรษฐกิจในครัวเรือนตามมา

คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี จังหวัดสุราษฎร์ธานี จึงได้พยายามหาแนวทางรูปแบบอาชีพที่จะช่วยเสริมความมั่นคงด้านรายได้ให้กับชุมชน โดยได้จัดทำโครงการ ‘พัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์จากผลิตภัณฑ์จากทะเลเพื่อสร้างมูลค่าให้กับรายได้กับชุมชน’ ขึ้นมา เพื่อเป็นการส่งเสริมทักษะอาชีพในการต่อยอดผลิตภัณฑ์ที่เป็น ‘ต้นทุน’ ของชุมชนอยู่แล้วอย่างอาหารทะเล รวมถึงเป็น ‘ทางเลือก’ ในการหารายได้ให้กับกลุ่มประมงพื้นบ้านอ่าวบ้านดอนด้วย

พื้นที่ดำเนินงานของโครงการจะครอบคลุมในตำบลพุมเรียง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยจะมีการคัดเลือกกลุ่มเป้าหมายที่เป็นครัวเรือนประมงพื้นบ้านด้อยโอกาส ซึ่งประกอบไปด้วย แรงงานนอกระบบ ผู้ถือบัตรสวัสดิการฯ ผู้ว่างงาน ผู้สูงอายุ และกลุ่มเครือข่ายอ่าวบ้านดอน รวมทั้งสิ้น 50 คน

แผนการพัฒนาอาชีพของโครงการ จะมุ่งการพัฒนาทักษะความรู้ด้านเทคโนโลยีการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากทะเล เช่น หอย ปู หมึก กุ้ง รวมถึงการออกแบบบรรจุภัณฑ์เพื่อนำเสนอสินค้าให้มีความน่าสนใจและเข้ากับรูปแบบของผลิตภัณฑ์ที่จัดจำหน่ายด้วย โดยในช่วงท้ายของโครงการจะมีการอบรมด้านการทำตลาด โดยเฉพาะตลาดออนไลน์ที่กำลังได้รับความนิยมอยู่ในปัจจุบัน

ด้วยความเชี่ยวชาญในด้านวิชาการและการสานต่อความรู้ที่ทันสมัย โครงการของมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานีนี้จะช่วยยกระดับการขายสินค้าอาหารทะเลของชุมชนชาวบ้านดอนได้เป็นอย่างดี ทั้งยังเป็นการช่วยบรรเทาปัญหาด้านเศรษฐกิจให้กับครัวเรือนที่ทำอาชีพประมงพื้นบ้าน เพราะพวกเขาจะสามารถขายสินค้าผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์ รวมถึงมีทักษะในการแปรรูปและถนอมสินค้าอาหารทะเลให้มีอายุการบริโภคที่นานขึ้นด้วย

เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น

พัฒนาและต่อยอดผลิตภัณฑ์กลุ่มประมงพื้นบ้านอ่าวบ้านดอนเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต

ชื่อหน่วยงาน

คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี

จังหวัด

สุราษฎร์ธานี

ปีโครงการ

2562

ติดต่อ

ผู้ประสานงาน: นางมโนลี ศรีเปารยะ เพ็ญพงษ์
โทร: 087-4699894

เป้าประสงค์โครงการ

เกิดผลิตภัณฑ์ที่ได้มาตรฐานสามารถจำหน่ายหรือแปรรูปจากการอบรมเพื่อไปสร้างรายได้ให้กับครัวเรือน รวมถึงมีความสามารถในการจัดทำบัญชีครัวเรือน สามารถออมเงินเพื่อใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน

เรื่องราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

กว่า 74 หน่วยงาน 42 จังหวัด กับ 1 เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มีศักยภาพ ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพแก่แรงงานด้อยโอกาส