ยุติความเหลื่อมล้ำในอำเภอกัลยาณิวัฒนา ผ่านโครงการพัฒนาอาชีพทอผ้าท้องถิ่นที่ทำให้กลุ่มสตรีฯ เหนียวแน่นกันมากขึ้น
หุบเขาสูงชันที่รายล้อมอำเภอกัลยาณิวัฒนา จังหวัดเชียงใหม่ ไม่เพียงเป็นดั่งป้อมปราการที่แยกตัวให้พื้นที่แห่งนี้ห่างไกลและยากต่อการเข้าถึง แต่ยังทำให้วิถีชีวิตของสตรีปกาเกอะญอต้องจำเจอยู่กับการใช้ชีวิตวนเวียนไปกับการทำงาน ดูแลบ้าน และเลี้ยงลูก
ดังที่ อานันต์ศรี แก้วเลิศตระกูล ประธานวิสาหกิจชุมชนสินค้าแม่แดดน้อย จังหวัดเชียงใหม่ เล่าว่า “สตรีปกาเกอะญอส่วนใหญ่เป็นผู้ด้อยโอกาส ใช้ชีวิตทำงานอยู่บ้าน เลี้ยงลูก แทบไม่มีโอกาสออกไปไหน บางคนส่งลูกไปเรียนในเมือง ทำให้ต้องอยู่อย่างเงียบเหงา ส่งผลให้เป็นโรคซึมเศร้ากันเยอะ”
โดยปกติแล้ว ชาวบ้านในพื้นที่มักประกอบอาชีพทางเกษตรกรรม เช่น ปลูกข้าว สตรอว์เบอร์รี่ ถั่วดิน และถั่วลิสง ว่างก็ทอผ้าขาย แต่รายได้ก็ยังไม่พอเลี้ยงชีพ วิสาหกิจชุมชนสินค้าแม่แดดน้อย จังหวัดเชียงใหม่ จึงริเริ่ม ‘โครงการพัฒนาอาชีพของกลุ่มสตรีปกาเกอะญอผู้ด้อยโอกาสและขาดแคลนทุนทรัพย์ อำเภอกัลยาณิวัฒนา จังหวัดเชียงใหม่’ ขึ้น เพื่อขจัดความเดือดร้อนและยกระดับคุณภาพชีวิตของสตรีปกาเกอะญอ ให้มีรายได้และความสุขในชีวิตเพิ่มขึ้น
ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จากการแนะนำของมหาวิทยาลัยแม่โจ้อีกทอดหนึ่ง
วิถีดั้งเดิมของสตรีปกาเกอะญอหลังการทำงานส่วนใหญ่ จะใช้เวลากับการทอผ้าเพื่อถักทอเครื่องนุ่งห่มในชีวิตประจำวัน เมื่อเหลือใช้ก็จะขายให้นักท่องเที่ยวบ้าง เพื่อเป็นรายได้เสริมในครัวเรือน แต่เนื่องจากสตรีปกาเกอะญอทอผ้าด้วย ‘กี่เอว’ ซึ่งเป็นเครื่องทอขนาดเล็ก ทำให้ผ้าทอมีหน้าแคบและใช้เวลาถักทอนาน จึงผลิตได้ไม่มากนัก
อีกทั้งการเข้ามาของเสื้อผ้าสำเร็จรูปจากโรงงานสมัยใหม่ยังทำให้สตรีปกาเกอะญอรุ่นใหม่เริ่มทอผ้าไม่เป็น โครงการจึงอยากมุ่งเน้นพัฒนาทักษะอาชีพด้าน ‘การทอผ้า’ เป็นหลักเพื่อให้เกิดการสานสัมพันธ์ระหว่างคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่ และยังช่วยสืบสานภูมิปัญญาด้านนี้ให้คงอยู่สืบไป
แม้ว่าสตรีปกาเกอะญอส่วนใหญ่จะมีกี่ทอผ้ากันทุกครัวเรือน แต่กี่ดังกล่าวกลับผลิตผ้าทอได้ครั้งละไม่มาก “เพราะการใช้กี่เอวที่สืบทอดกันมาตั้งแต่สมัยโบราณ ทำให้สตรีปกาเกอะญอทอผ้าถุงขายได้ทีละผืน เราจึงคิดว่าถ้าเราสามารถนำกี่ใหญ่มาให้พวกเขาใช้ได้ ก็จะทำให้ทอผ้าได้ทีละหลายเมตร และนำไปตัดเป็นผ้าถุงได้ 10-20 ผืน ซึ่งหมายถึงรายได้ที่มากขึ้นอีกด้วย” อานันต์ศรี กล่าวและแนะนำ
กิจกรรมลำดับแรกที่โครงการดำเนินงานก็คือ การอบรมเรื่อง ‘การย้อมสีธรรมชาติ’ ซึ่งได้ คุณแก้ว จันทร์แก้ว ผู้เชี่ยวชาญด้านนี้จากอำเภอสะเมิงมาเป็นวิทยากร โดยวัตถุดิบที่นำมาใช้ย้อมสีล้วนเป็นวัตถุดิบที่มีอยู่แล้วในท้องถิ่น เช่น เปลือกมะม่วง ขมิ้น เพกา เปลือกก่อ ดิน ปลีกล้วย เป็นต้น ซึ่งนอกจากให้สีสันแล้ว วัตถุดิบบางชนิดยังมีสรรพคุณด้านการรักษาโรค เช่น ผ้าที่ย้อมสีด้วยรากเคาะ (พันธุ์ไม้ชนิดหนึ่ง) สามารถลดผื่นคันได้
นอกจากการย้อมผ้าสีพื้นธรรมดาๆ แล้ว ยังมีการอบรมเรื่องการออกแบบลายผ้ากะเหรี่ยงโบราณ เช่น ลายก้นหอย ลายดอกบัวตอง เป็นต้น เนื่องจากสตรีปกาเกอะญอรุ่นใหม่เริ่มหลงลืมภูมิปัญญาด้านนี้ไปแล้ว อีกทั้งยังต่อยอดผลิตภัณฑ์จากผ้าทอให้ตรงความต้องการของตลาดมากขึ้น ด้วยการผลิตเป็นเสื้อหรือเครื่องนุ่งห่มรูปแบบต่างๆ ภายใต้การแนะนำของวิทยากรจากสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดเชียงใหม่ (พช. เชียงใหม่) ที่ช่วยดูแลด้านการออกแบบและการตลาด ตั้งแต่การถ่ายรูปผลิตภัณฑ์ ไปจนถึงการตั้งเพจเฟซบุ๊กเพื่อเป็นช่องทางการขาย
ด้านสิทธิคุณ สุภาปรีดากุล ผู้รับผิดชอบเพจเฟซบุ๊กสินค้าชุมชนบ้านแม่แดดน้อย เสริมว่า นอกจากการวางขายผ่านเพจเฟซบุ๊กแล้ว ยังมีช่องทางการจำหน่ายอื่นๆ เช่น วางขายที่โฮมสเตย์ในท้องถิ่น และงาน OTOP ต่างๆ ซึ่งมีราคาตั้งแต่ 199-1,500 บาท โดยในช่วงการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 สตรีปกาเกอะญอก็ยังสามารถพลิกวิกฤตเป็นโอกาสด้วยการผลิต ‘หน้ากากอนามัยแบบผ้า’ เพื่อจำหน่ายเสริมได้อีกด้วย
ทั้งนี้ การส่งเสริมด้านการทอผ้าเพื่อสร้างรายได้เสริมอาจยังไม่เพียงพอ เนื่องจากปัจจัยสำคัญที่จะช่วยเพิ่มรายได้อย่างมีประสิทธิภาพก็คือ ‘การลดรายจ่ายในครัวเรือน’ วิสาหกิจชุมชนสินค้าแม่แดดน้อยจึงเชิญคุณจำเนียร ซึ่งเป็นปราชญ์ชาวบ้านจากดอยสะเก็ดมาเป็นวิทยากร สอนการผลิต ‘น้ำยาล้างจาน’ และ ‘น้ำยาซักผ้า’ ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์สิ้นเปลืองของแต่ละครัวเรือน เพื่อจำหน่ายภายใต้ชื่อ ‘เดปอถู่’
“โดยคำว่า เดปอถู่ ในภาษากะเหรี่ยงหมายถึง วัฒนธรรมของชาวปกาเกอะญอที่เมื่อมีเด็กเพิ่งคลอด จะนำรกเด็กบรรจุลงกระบอกไม้ไผ่และนำไปผูกกับต้นไม้ เพื่อสื่อถึงความสัมพันธ์ว่าเด็กจะเติบโตไปพร้อมกับต้นไม้ต้นนั้น ซึ่งเป็นการปลูกฝังให้เกิดการหวงแหนและอยากรักษาทรัพยากรธรรมชาติ คำดังกล่าวจึงถูกนำมาใช้เป็นชื่อผลิตภัณฑ์น้ำยาล้างจานและน้ำยาซักผ้าของทั้ง 3 หมู่บ้าน” อานันต์ศรีกล่าว
ปัจจุบัน ความสำเร็จของโครงการนี้ไม่เพียงช่วยให้สตรีปกาเกอะญอมีรายได้เสริมเกือบทุกคน แต่การพบปะเพื่อทำกิจกรรมร่วมกันยังนำมาซึ่ง ‘รอยยิ้ม’ และ ‘ความสุข’ อีกด้วย ดังเช่นที่สุใจ ไสวชาวดอย สตรีปกาเกอะญอ อายุ 37 ปี เล่าว่า “ฉันสนุกมากเลยที่ได้มาร่วมโครงการ ได้พบเจอพูดคุยกับเพื่อนๆ ในหมู่บ้าน ตอนแรกที่เข้าร่วมโครงการ ฉันก็อยากทำเสื้อสวยๆ ให้ได้เหมือนคนอื่น จนตอนนี้เริ่มทำได้แล้ว เริ่มจากกระเป๋าก่อน แต่ยังขายได้ไม่มาก ประมาณ 5-6 ใบ ตอนที่ขายใบแรกได้ดีใจมาก ที่มีรายได้เพิ่มขึ้นมาจากเมื่อก่อนที่ไม่มีเลย”
ทั้งนี้ อานันต์ศรีอธิบายว่า กว่าที่โครงการจะดำเนินมาจนเห็นความสำเร็จอย่างทุกวันนี้ ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะนอกจากความมุ่งมั่น ความเสียสละ และความทุ่มเทในการทำงานของวิสาหกิจชุมชนสินค้าแม่แดดน้อยแล้ว เคล็ดลับที่สำคัญสำหรับการพัฒนาชุมชน ก็คือความเข้มแข็งและการเปิดใจของผู้นำ
“ในฐานะผู้นำชุมชน เราต้องเป็นตัวอย่างให้เขาเห็นก่อน ต้องเข้มแข็ง จะอ่อนแอไม่ได้ เพราะเราต้องเป็นหลักที่จะช่วยเหลือเขายามที่เดือดร้อน ส่วนในการทำงาน ต้องรู้จักเรียนรู้ความรู้สึกคนด้วย ต้องรู้จักสังเกตคน คนนี้ถนัดเรื่องอะไรบ้าง เหมาะจะทำงานด้านไหน เพราะจะทำให้งานลุล่วงได้เร็ว” อานันต์ศรี แก้วเลิศตระกูล ประธานวิสาหกิจชุมชนสินค้าแม่แดดน้อย จังหวัดเชียงใหม่
เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น
การพัฒนาอาชีพของกลุ่มสตรีปกาเกอะญอผู้ด้อยโอกาสและขาดแคลนทุนทรัพย์
ชื่อหน่วยงาน
จังหวัด
ปีโครงการ
ติดต่อ
เป้าประสงค์โครงการ
สร้างความเป็นธรรมและความเท่าเทียมของแรงงานกลุ่มสตรีปกาเกอะญอที่ด้อยโอกาสและขาดแคลนทุนทรัพย์ในชุมชน เพื่อการพัฒนาทักษะความสามารถในการสร้างอาชีพ และสร้างรายได้โดยตนเองอย่างภาคภูมิใจ และการรักษาภูมิปัญญาของปกาเกอะญออย่างยั่งยืน