ม.มหิดล นครสวรรค์ ดึงผู้ด้อยโอกาสมาฝึกทักษะผลิตชะลอมไม้ไผ่ สร้างโอกาส เพิ่มรายได้ พัฒนาผลิตภัณฑ์สะท้อนวิถีชุมชน ตอบโจทย์ความต้องการในท้องถิ่น

นครสวรรค์ การแปรรูปผลิตภัณฑ์

“ทุกคนในชุมชนสามารถจักสานไม้ไผ่ได้” คือคำบอกเล่าจากชุมชนบางมะฝ่อที่มีอาณาเขตอยู่ในพื้นที่ของคลองบางปะมุง คำกล่าวนี้สะท้อนให้เห็นว่าคนในชุมชนละแวกนี้ล้วนมีภูมิปัญญาในการผลิตข้าวของเครื่องใช้ในบ้านและการทำเกษตรโดยใช้ไม้ไผ่ เช่น ชะลอม ตะหร้า กระด้ง อีชุก กระพ้อม และลอบดักปลา เป็นต้น

เมื่อต้นทุนของชุมชนมีความชัดเจนดังนี้แล้ว จึงเป็นเรื่องไม่ยากที่หน่วยงานพัฒนาอาชีพจะเข้าไปมีส่วนร่วมในการต่อยอดผลิตภัณฑ์ของชุมชน โดยหลังจากที่โครงการจัดตั้งวิทยาเขตนครสวรรค์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เข้าไปสำรวจชุมชนละแวกคลองบางปะมุงแล้ว ก็ได้พบว่าคนส่วนใหญ่เชี่ยวชาญการจักสานคือกลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งคนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ยังต้องการรายได้ แต่ไม่สามารถทำงานใช้แรงงานหนักได้เหมือนคนวัยหนุ่มสาว หน่วยงานพัฒนาจึงได้เลือกเอากลุ่มผู้สูงอายุนี้เป็นกลุ่มเป้าหมายหลักในการพัฒนา

โครงการต่อยอดชะลอมเป็นบรรจุภัณฑ์ของผลิตภัณฑ์ชุมชนคลองบางปะมุงมีสมาชิกรวมทั้งสิ้น 42 คน ซึ่งทางมหาวิทยาลัยมหิดลได้ออกแบบหลักสูตรการพัฒนาที่เน้นการจับต้องได้ อย่างเช่น การออกแบบผลิตภัณฑ์จักรสานที่เป็นความต้องการของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนใกล้เคียง อย่างเช่น ชะลอม เนื่องจากเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีความยืดหยุ่นในเชิงการใช้งานและสามารถนำไปใช้เป็นบรรจุภัณฑ์ได้หลากหลาย โดยโครงการก็ได้รับหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมความต้องการของกลุ่มวิสาหกิจต่างๆ กับศักยภาพในการผลิตของกลุ่มเป้าหมาย

หลังจากผ่านหลักสูตรที่ช่วยปรับวิธีคิดและต่อยอดผลิตภัณฑ์แบบดั้งเดิมตามทักษะของกลุ่มเป้าหมายแล้ว โครงการก็ได้เห็นว่ากลุ่มเป้าหมายมีความเข้าใจในตลาดชะลอมมากขึ้น และเริ่มสร้างรายได้ผ่านการผลิตชะลอมเพื่อป้อนให้กับกลุ่มผู้ผลิตสินค้าอีกทีหนึ่ง ซึ่งนับว่าเป็นก้าวที่สำคัญที่ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับกลุ่มเป้าหมายได้

นอกจากนี้ วิธีคิดการทำงานของโครงการยังช่วยให้เกิดห่วงโซ่อุปทานในชุมชน ตั้งแต่ระดับต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ คือมีการสร้างงานให้กับผู้ปลูกไผ่ ผู้รับจ้างตัดไผ่ ผู้ทำการจักสานออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ ไปจนถึงกลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่นำเอาผลิตภัณฑ์เหล่านี้ไปใช้เป็นจุดขายของสินค้าตัวเองด้วย จึงนับว่าเป็นการพัฒนาที่ทุกภาคส่วน ‘ได้กำไร’ อย่างแท้จริง

เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น

การต่อยอดชะลอมเป็นบรรจุภัณฑ์ของผลิตภัณฑ์ชุมชนคลองบางประมุง จังหวัดนครสวรรค์

ชื่อหน่วยงาน

โครงการจัดตั้งวิทยาเขตนครสวรรค์ มหาวิทยาลัยมหิดล

จังหวัด

นครสวรรค์

ปีโครงการ

2562

ติดต่อ

ผู้ประสานงาน: ผศ.ดร.กิตติคุณ หมู่พยัคฆ์
โทร: 089-8512939

เป้าประสงค์โครงการ

  1. คนในชุมชนมีทักษะและแนวคิดสร้างสรรค์ในการจักสานชะลอม ได้มาตรฐานตามความต้องการของตลาด
  2. คนในชุมชนมีรายได้เสริมจากการจักสานชะลอมอย่างเป็นประจำต่อเนื่อง
  3. การพัฒนาผลิตภัณฑ์เชิงสร้างสรรค์จากชะลอม

เรื่องราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

กว่า 74 หน่วยงาน 42 จังหวัด กับ 1 เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มีศักยภาพ ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพแก่แรงงานด้อยโอกาส