กศน.อำเภอภูซางฟื้นฟูทักษะการผลิตผ้าที่เป็นอัตลักษณ์ของกลุ่มสตรี สร้างอาชีพ เสริมความแข็งแกร่งให้กับกลุ่มชาติพันธุ์ในจังหวัดพะเยา

พะเยา งานหัตถกรรมและฝีมือ

ด้วยลักษณะทางภูมิศาสตร์เป็นพรมแดนติดประเทศลาว ทำให้อำเภอภูซาง จังหวัดพะเยา มีการโยกย้ายถิ่นฐานของสตรีลาว ด้วยการข้ามมาแต่งงานกับชายไทย อีกทั้งยังมีกลุ่มชาติพันธุ์ม้งอาศัยอยู่ด้วย ส่งผลให้พื้นที่ดังกล่าวมีเสน่ห์และภูมิปัญญาอันทรงคุณค่าและสวยงามหลายอย่าง จากวัฒนธรรมที่หลากหลาย ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ ‘ผ้าภูซาง’

จากการเก็บข้อมูลเพื่อค้นหากลุ่มเป้าหมายสำหรับเข้าร่วมโครงการพัฒนาอาชีพการผลิตผ้าของสตรีภูซาง จังหวัดพะเยา ในพื้นที่ 3 หมู่บ้านในอำเภอภูซาง ได้แก่ บ้านฮวก บ้านใหม่รุ่งทวี และบ้านคอดยาว พบว่า กลุ่มสตรีจากทั้งสามหมู่บ้านแบ่งออกได้เป็น 2 เชื้อชาติ คือกลุ่มสตรีม้งและกลุ่มสตรีลาว ซึ่งมีทักษะการผลิตผ้าต่างกัน โดยกลุ่มสตรีลาวจะมีทักษะการทอผ้าติดตัวมาตั้งแต่เด็ก ส่วนกลุ่มสตรีม้งจะถนัดการปักลายและการเขียนเทียน โดยที่ผ่านมา ทั้งสองกลุ่มต่างคนต่างทำ ต่างคนต่างขาย ไม่เคยพบปะ แลกเปลี่ยนความรู้กัน

เหมือนฝัน ยองเพชร สมาชิกศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอภูซาง และผู้รับผิดชอบโครงการ อธิบายว่า เป้าหมายของโครงการนี้คือการยกระดับผ้าภูซาง ซึ่งผสานเอกลักษณ์ของกลุ่มสตรีทั้งสองกลุ่มให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพและเป็นที่รู้จักในวงกว้าง ผ่านการกำหนดหลักสูตรที่สอดคล้องและตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มเป้าหมายทั้ง 50 คน ได้แก่ กลุ่มสตรีจากบ้านฮวก 20 คน, บ้านใหม่รุ่งทวี 15 คน, และบ้านคอดยาว 15 คน 

โดยกระบวนการที่คณะทำงานวางไว้มี 3 ขั้นตอน ดังนี้ (1) การพัฒนาทักษะการผลิตผ้าทอ ผ้าเขียนเทียน และผ้าปักลายม้ง (2) การจัดอบรมการออกแบบตัดเย็บ เช่น การสร้างแบบ การตัดเย็บ และการออกแบบเสื้อผ้าให้ทันสมัย และ (3) การตลาดออนไลน์ เช่น การสร้างเพจ การถ่ายรูป การแนะนำสินค้า และการไลฟ์ขายสินค้า ซึ่งเหมือนฝันเสริมว่า การอบรมตั้งแต่ขั้นตอนการผลิตไปจนถึงการจำหน่าย จะส่งผลดีต่อกลุ่มเป้าหมายอย่างมั่นคงในอนาคต

ทั้งนี้ คณะทำงานได้นำความแตกต่างด้านชาติพันธุ์ และกระบวนการออกแบบตัดเย็บของกลุ่มสตรีทั้งสองกลุ่ม มาผสานรวมเป็นเทคนิคการ Mix and Match ซึ่งต่อยอดมาจากงานอดิเรกของกลุ่มเป้าหมาย นั่นคือการเย็บผ้า ผนวกกับการสอบถามความต้องการของกลุ่มเป้าหมายโดยตรง จนกลายเป็นหลักสูตรการออกแบบตัดเย็บที่มีวิทยากรจากภายนอกเข้ามาถ่ายทอดความรู้ ควบคู่กับการสืบสานทักษะการทอผ้า การปักลาย และการเขียนเทียน ให้กลุ่มเป้าหมายในแต่ละหมู่บ้าน ทำให้เยาวชนรุ่นใหม่หันมาสืบทอดภูมิปัญญาด้านนี้มากขึ้น และส่งผลให้ภูมิปัญญาผ้าภูซางคงอยู่ต่อไป 

วรวลัญจ์ สิงห์สุวรรณ หนึ่งในคณะทำงาน เล่าถึงบรรยากาศการอบรมหลักสูตรการออกแบบตัดเย็บว่า เธอสังเกตเห็นความตั้งใจของกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการเรียนรู้การออกแบบตัดเย็บอย่างมุ่งมั่น และจากที่ปกติแล้ว กลุ่มสตรีทั้งสองกลุ่มไม่เคยพูดคุย แลกเปลี่ยนความรู้กัน กระบวนการอบรมก็เปิดโอกาสให้พวกเธอแลกเปลี่ยนความรู้มากขึ้น จนเกิดระบบช่วยเหลือกันและกัน ซึ่งแสดงถึงความสัมพันธ์อันดีในชุมชน และต่อยอดเป็นการรวมภูมิปัญญาด้านผ้าของทั้งสามหมู่บ้าน ทั้งการทอผ้าของบ้านฮวก การปักลายของบ้านใหม่รุ่งทวี และการเขียนเทียนของบ้านคอดยาว ไว้บนผ้าผืนเดียวกัน

“โครงการนี้ ทำให้เกิดแนวคิด Mix and Match ที่สามารถบอกใครต่อใครได้ว่า นี่แหละคือผ้าภูซาง” วรวลัญจ์กล่าว และเสริมว่า ในอนาคตอันใกล้นี้ ทีมงานและนายอำเภอได้สร้างเป้าหมายร่วมกันว่า จะผลักดันภูมิปัญญาที่ผสานรวมของทั้งสามหมู่บ้าน ให้กลายเป็น ‘แบรนด์ผ้าภูซาง’ ขึ้นให้ได้ เพื่อส่งผลิตภัณฑ์ผ้าภูซางไปโลดแล่นบนตลาดออนไลน์

สาเหตุที่การตลาดออนไลน์มีบทบาทสำคัญ สืบเนื่องมาจากสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบไปทั่วโลก คณะทำงานจึงต้องปรับหลักสูตรการอบรมใหม่ ด้วยการนำหลักสูตรการตลาดออนไลน์มาเป็นหลักสูตรแรก จากเดิมที่วางแผนให้หลักสูตรการตัดเย็บเป็นหลักสูตรแรก เพราะสถานการณ์ดังกล่าวส่งผลให้ทุกคนต้องอยู่บ้านเป็นหลัก ตามมาตรการอยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ 

ด้าน วสันต์ สุธรรมมา หนึ่งในคณะทำงาน กล่าวว่า “เราพยายามทำอย่างไรก็ได้ ให้เขาขายสินค้าได้ เพราะถ้าเราเปลี่ยนความคิดของเขาตรงนี้ได้ แล้วเขาสามารถขายสินค้าด้วยตัวเองจากพื้นที่ชุมชน เขาก็จะมีรายได้เข้ามา โดยที่ไม่ต้องไปทำงานที่อื่น เพราะบริบทสังคมในปัจจุบันมีการใช้เทคโนโลยีมากขึ้น ทุกคนสามารถเข้าถึงสื่อออนไลน์เพียงปลายนิ้วสัมผัส การนำเทคโนโลยีมาปรับใช้กับการขายจึงเป็นเรื่องจำเป็น 

คณะทำงานจะสอดแทรกการวิเคราะห์พฤติกรรมผู้บริโภค การถ่ายรูปลงเพจ รวมไปถึงการถ่ายทอดสดทางเฟซบุ๊ก ลงไปในหลักสูตรการตลาดออนไลน์ ซึ่งวสันต์อธิบายว่า “สิ่งแรกที่ต้องเรียนรู้ก็คือ การทำเนื้อหาหลักสูตรให้กลุ่มเป้าหมายสามารถอธิบายจุดเด่นของสินค้าได้ และเมื่อเขาเข้าใจตรงนี้เพียงพอแล้ว ขั้นตอนต่อมาจึงค่อยเสริมเรื่องเทคนิคต่างๆ เช่น การถ่ายรูป การโพสต์ขายสินค้า”  

ผลสำเร็จที่สามารถการันตีประสิทธิภาพของโครงการนี้ได้อย่างชัดเจน คือการที่ จินตนา มุ่งจันทร์ หนึ่งในกลุ่มเป้าหมายจากบ้านคอดยาว สามารถนำความรู้ด้านการตลาดออนไลน์มาใช้ขายสินค้า ด้วยเทคนิคการถ่ายทอดสด (ไลฟ์) ซึ่งช่วยให้เธอขายสินค้าได้กว่า 10,000 บาท ต่อการไลฟ์หนึ่งครั้ง โดยเธอเล่าว่า “เมื่อก่อนเคยเห็นคนอื่นไลฟ์ แต่เราไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไร กระบวนการอบรมช่วยให้เรามีช่องทางการค้าขายมากกว่าเดิม ตอนนี้ก็ค่อยๆ ปรับรูปแบบและเทคนิคการขายให้น่าสนใจอยู่เสมอ” 

ถึงตอนนี้ ผ้าภูซางเริ่มเป็นที่รู้จักของคนพะเยาและจังหวัดใกล้เคียงมากขึ้น ซึ่งเป็นผลพวงจากการตลาดออนไลน์ของกลุ่มเป้าหมาย และการสนับสนุนของ วิรุฬห์ สิทธิวงศ์ นายอำเภอภูซาง ที่พยายามผลักดันและยกระดับผ้าภูซาง เพื่อต่อยอดและสร้างรายได้ให้คนในท้องถิ่น 

จึงสามารถกล่าวได้ว่า โครงการพัฒนาอาชีพการผลิตผ้าของสตรีภูซาง จังหวัดพะเยา สามารถสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กลุ่มสตรีภูซางที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ และเป็นผู้ด้อยโอกาสได้อย่างมั่นคง อีกทั้งยังบรรลุเป้าหมายในเรื่องการอนุรักษ์และผสานรวมภูมิปัญญาด้านผ้าของกลุ่มสตรีภูซางไว้ด้วยกัน ควบคู่กับการเพิ่มทักษะด้านการตลาดออนไลน์ จนกลุ่มเป้าหมายจากทั้งสามหมู่บ้าน มีรายได้และช่องทางการขายมากขึ้น โดยไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลางเหมือนที่ผ่านมา และเกิดกระบวนการคิด วิเคราะห์ และรู้จักพึ่งพาตัวเองอย่างยั่งยืน

“เราพยายามทำอย่างไรก็ได้ ให้เขาขายสินค้าได้ เพราะถ้าเราเปลี่ยนความคิดของเขาตรงนี้ได้ แล้วเขาสามารถขายสินค้าด้วยตัวเองจากพื้นที่ชุมชน เขาก็จะมีรายได้เข้ามา โดยที่ไม่ต้องไปทำงานที่อื่น สิ่งแรกที่ต้องเรียนรู้ก็คือ การทำเนื้อหาหลักสูตรให้กลุ่มเป้าหมายสามารถอธิบายจุดเด่นของสินค้าได้ และเมื่อเขาเข้าใจตรงนี้เพียงพอแล้ว ขั้นตอนต่อมาจึงค่อยเสริมเรื่องเทคนิคต่างๆ เช่น การถ่ายรูป การโพสต์ขายสินค้า” วสันต์ สุธรรมมา หนึ่งในคณะทำงาน

เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น

พัฒนาอาชีพการผลิตผ้าของสตรีภูซาง จังหวัดพะเยา

ชื่อหน่วยงาน

ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย อำเภอภูซาง จังหวัดพะเยา

จังหวัด

พะเยา

ปีโครงการ

2562

ติดต่อ

ผู้ประสานงาน: นางเหมือนฝัน ยองเพชร
โทร: 097-9242728

เป้าประสงค์โครงการ

สร้างโอกาสที่เสมอภาคของแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสให้ได้รับการพัฒนายกระดับฝีมือแรงงานที่มีคุณภาพ และสามารถฝึกฝนให้กลุ่มเป้าหมายมีทักษะในการที่จะนำไปประกอบอาชีพเลี้ยงตนเองและครอบครัว

เรื่องราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

กว่า 74 หน่วยงาน 42 จังหวัด กับ 1 เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มีศักยภาพ ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพแก่แรงงานด้อยโอกาส