วิทยาลัยชุมชนแม่ฮ่องสอนเปิดโครงการสอนการบริหารโฮมสเตย์ชุมชนชาติพันธุ์และการทำเกษตรพื้นที่สูง ต้อนรับนักท่องเที่ยวกลุ่ม ‘So Lo Mo’ ที่ชอบสัมผัสประสบการณ์ใหม่ๆ

แม่ฮ่องสอน การบริการและการท่องเที่ยว

‘อาหาร’ คือเรื่องใกล้ตัวที่ไม่ใช่แค่การกิน อาหารบางเมนูสะท้อนวิถีชีวิต สภาพแวดล้อม และสภาพสังคมของแต่ละชุมชน บางเมนูยังแสดงถึงเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของแต่ละพื้นที่ อาหารจึงเชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ทำให้มีการพูดถึง ‘การท่องเที่ยวเชิงอาหาร’ มากขึ้น การไปลิ้มลองรสชาติอาหารต่างถิ่น จึงกลายเป็นอีกหนึ่งเป้าหมายของการท่องเที่ยว 

จากการทำงานร่วมกันระหว่างวิทยาลัยชุมชนแม่ฮ่องสอนและเครือข่ายการท่องเที่ยวโดยชุมชน (Community Based Tourism: CBT) มากว่า 10 ปี พบว่าพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวเปลี่ยนไปจากเดิม บางส่วนสนใจการท่องเที่ยวเชิงวิถีชีวิตและวัฒนธรรมมากขึ้น การท่องเที่ยวเชิงอาหารจึงเป็นการเดินทางเพื่อสัมผัสประสบการณ์จากต้นกำเนิดอาหาร ผ่านการสร้างความประทับใจจากการเป็นเจ้าบ้านที่ดี ซึ่งเป็นแนวทางที่จะช่วยกระจายรายได้สู่ชุมชน โครงการเพิ่มมูลค่าฯ ของวิทยาลัยชุมชนจึงได้เฟ้นหาสิ่งใหม่ๆ ที่จะนำมาชูให้กับการท่องเที่ยวของแม่ฮ่องสอน และได้เลือกเอาเรื่องของ ‘อาหาร’ มาชูเป็นไฮไลท์หลักในการท่องเที่ยวชุมชนผ่านกิจกรรม ‘Chef Table’ และ ‘Farm to Table’ ที่กำลังได้รับความนิยมจากผู้บริโภค

ทรงศักดิ์ ปัญญา จากวิทยาลัยชุมชนแม่ฮ่องสอน หัวหน้าโครงการพัฒนาทักษะและเพิ่มมูลค่าการให้บริการโฮมสเตย์ชุมชนชาติพันธุ์และการเกษตรแม่นยำบนพื้นที่สูง กล่าวว่า สิ่งที่ชุมชนยังขาดและต้องการ คือการพัฒนาชุมชนในแง่การท่องเที่ยวและเกษตรกรรมยั่งยืน 

โครงการนี้จึงแบ่งกระบวนการทำงานเป็น 2 ส่วน 

1.การพัฒนาทักษะและมาตรฐานการให้บริการโฮมสเตย์กับผู้ประกอบการที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ ในอำเภอแม่ลาน้อย ปางมะผ้า และสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ควบคู่กับการบูรณาการองค์ความรู้เรื่องอาหารท้องถิ่น ด้วยการนำวัตถุดิบท้องถิ่นมาผลิตอาหารเมนูพิเศษ โดยโครงการฯ ได้เข้าไปแลกเปลี่ยนองค์ความรู้กับกลุ่มเป้าหมาย ผ่านการจัดเวิร์กชอปโดยเชฟผู้เชี่ยวชาญ โดยมีการสอนวิธีการประกอบอาหาร ตั้งแต่กระบวนการคัดเลือกวัตถุดิบในชุมชน การปรุงรส การตกแต่งจาน จนถึงวิธีคิดในการสอดแทรก Storytelling เข้าไปในการตลาดเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับอาหารแต่ละจานด้วย

“ปกติแล้วชาวบ้านบอกได้ว่าพืชผักชนิดนี้กินแล้วส่งผลอย่างไรต่อร่างกาย แต่ไม่สามารถสื่อสารเชิงโภชนาการได้ว่า มีวิตามินเกลือแร่หรือสารอาหารอะไรบ้าง ทีมวิทยากรหรือเชฟจะเข้ามาเสริมวิชาการในส่วนนี้ เช่น ชาวบ้านบอกว่าพืชผักชนิดนี้บำรุงสายตา ในทางโภชนาการสามารถชี้ชัดได้ว่าผักมีวิตามินเอ เมื่อนำวัตถุดิบต่างๆ ในท้องถิ่นมาคิดเมนูใหม่ วิทยากรจะบอกเราว่าแต่ละเมนูมีคุณค่าทางโภชนาการด้านใดบ้าง” ทรงศักดิ์ ปัญญา หัวหน้าโครงการ เล่าถึงการต่อยอด Storytelling ให้กับกลุ่มเป้าหมาย

จากคำถามง่ายๆ ที่ว่า “วัตถุดิบในชุมชนมีอะไรบ้าง” ก็นำไปสู่การยกระดับการท่องเที่ยวในชุมชนแม่ลาน้อย ปางมะผ้า และสบเมยได้อย่างน่าสนใจ นอกจากนี้โครงการยังได้มีการอบรมเรื่องการตกแต่งโฮมสเตย์สื่อสารอัตลักษณ์ชีวิตชาติพันธุ์ให้กับชุมชน เพื่อดึงดูดความสนใจนักท่องเที่ยวที่ต้องการนำเสนอไลฟ์สไตล์ผ่านโซเชียลมีเดีย อีกด้วย

2.การพัฒนาเกษตรกรบนพื้นที่สูงให้มีทักษะการทำเกษตรแบบแม่นยำและเข้าถึงเทคโนโลยี เช่น ติดตั้งระบบฟาร์มอัจฉริยะ ซึ่งทั้งหมดนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวเชิงอาหารและการทำเกษตรกรรมให้ชุมชนด้วยศักยภาพของชุมชนเอง

โดยการพัฒนาในประเด็นนี้ทีมงานของโครงการได้พบโจทย์ที่ท้าทายคือ เกษตรกรชุมชนติดกับดักการใช้ยาฆ่าแมลงและปุ๋ยเคมี กำไรจากการขายพืชผักจึงตกไปอยู่ที่นายทุน เพื่อเป็นการช่วยเกษตรกรให้พึ่งพาตนเองได้ โครงการฯ จึงเข้ามาให้ความรู้เกษตรกรในเรื่องของ ‘การเพิ่มมูลค่าพืชท่องถิ่น’ ภายใต้โจทย์ ‘ปลูกน้อยแต่ได้มาก’ โดยมี ‘ห่อทีหล่า’ พืชที่ได้ชื่อว่าเป็น ‘ต้นชูรส’ จากธรรมชาติ มีรสชาติหวานแตะลิ้น ใช้ปรุงอาหารและยังมีสรรพคุณทางยา เป็นหนึ่งในพืชตัวอย่างที่ทำให้เกษตรกรรู้จักการใช้ประโยชน์จากของใกล้ตัว นำมาเพิ่มมูลค่า และสามารถทำให้ชุมชนเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับชุมชนอื่นได้

“จริงๆ ห่อทีหล่าเป็นพืชที่ชาวบ้านรู้จักกันอยู่แล้วแต่ไม่ได้สนใจ เพราะมันปลูกยาก ชาวบ้านเขาไม่มีความรู้ ไม่มีเทคโนโลยีมาช่วยให้ปลูกแล้วรอด แต่ตอนนี้เรารู้ว่าห่อทีหล่าเป็นพืชที่สร้างรายได้และตอบโจทย์เรื่องสุขภาพ ซึ่งโครงการก็ได้เข้ามาให้ความรู้ในการปลูกและดูแล จนถึงวิธีการต่อยอดให้เป็นผลิตภัณฑ์ เราเลยอยากผลักดันให้มันกลับมาเป็นทางเลือกในการปลูกให้กับชาวบ้านคนอื่นๆ ด้วย” เอกพล พรรณธีรกุล เกษตรกรบ้านแม่ลาย

นอกจากห่อทีหล่าแล้ว ทีมโครงการก็ได้เข้าไปให้ความรู้ด้านทฤษฎีการเกษตรเพิ่มเติม รวมถึงสอนการใช้เทคโนโลยีอย่างง่าย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการสร้างผลผลิตให้กับเกษตรกร ซึ่งโครงการจะเน้นการให้ความรู้ในแนวทางการทำเกษตรปลอดภัยที่เป็นมิตรต่อตนเองและสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก 

บทสรุปสุดท้ายของโครงการเพิ่มมูลค่าการให้บริการโฮมสเตย์ชุมชนชาติพันธุ์และการเกษตรแม่นยำบนพื้นที่สูงคือการที่โครงการได้เข้าไปพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ของชุมชนได้อย่างน่าสนใจ โดยเฉพาะการกลับไปที่ ‘ราก’ หรือต้นทุนของชุมชนอย่างเช่นวัตถุดิบหลักในพื้นที่ และ พืชท้องถิ่น และเชื่อมเข้ากับกระแสความนิยมของโลกในปัจจุบันอย่างการท่องเที่ยวเชิงอาหาร ซึ่งช่วยสร้างโอกาส สร้างอาชีพและสร้างรายได้เข้าสู่ชุมชน เปิดโอกาสให้คนในชุมชนมองเห็นถึงศักยภาพของตนเอง ต่อยอดจากสิ่งที่มีอยู่แล้วและพัฒนาต่อให้ดีขึ้น ทั้งยังเป็นการดึงผู้ด้อยโอกาสในพื้นที่ รวมถึงเยาวชนที่ไม่มีโอกาสทางการศึกษากลับเข้ามาประกอบอาชีพอีกครั้ง

โครงการเพิ่มมูลค่าการให้บริการโฮมสเตย์ชุมชนชาติพันธุ์ฯ ได้เข้าไปพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ของชุมชนได้อย่างน่าสนใจ โดยเฉพาะการกลับไปที่ ‘ราก’ ของชุมชนและเชื่อมต้นทุนนั้นกับกระแสความนิยมของโลกปัจจุบันอย่างการท่องเที่ยวเชิงอาหาร

เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น

วิทยาลัยชุมชนแม่ฮ่องสอน

ชื่อหน่วยงาน

การพัฒนาทักษะและเพิ่มมูลค่าการให้บริการโฮมสเตย์ชุมชนชาติพันธุ์และการเกษตรแม่นยำบนพื้นที่สูง

จังหวัด

แม่ฮ่องสอน

ปีโครงการ

2562

ติดต่อ

ผู้ประสานงาน: นายทรงศักดิ์ ปัญญา
โทร: 088-6514959

เป้าประสงค์โครงการ

  1. ผู้ให้บริการโฮมสเตย์ชุมชนชาติพันธุ์และเกษตรกรมีทักษะแรงงานที่ได้มาตรฐานและมีความชำนาญสำหรับการประกอบอาชีพเเละการสร้างมูลค่าเพิ่มผลผลิต
  2. ผู้ให้บริการโฮมสเตย์ชุมชนชาติพันธุ์และเกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น เฉลี่ยร้อยละ 30 จากการเพิ่มมูลค่าการให้บริการโฮมสเตย์เเละผลผลิตทางการเกษตร
  3. ผู้เข้าร่วมโครงการได้รับวุฒิทางการศึกษาระดับสัมฤทธิ์บัตรชุดวิชา
  4. ผู้เข้าร่วมโครงการสามารถใช้ชุมชนเป็นฐานการประกอบอาชีพตามความถนัดและสามารถพึ่งพาตนเองได้
  5. ได้รูปแบบการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์เเละด้อยโอกาสและนำไปขยายผลในจังหวัดแม่ฮ่องสอน

เรื่องราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

กว่า 74 หน่วยงาน 42 จังหวัด กับ 1 เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มีศักยภาพ ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพแก่แรงงานด้อยโอกาส