วิทยาลัยชุมชนสตูลเปิดโครงการอบรมมัคคุเทศให้ได้ใบอนุญาตมัคคุเทศก์เฉพาะภูมิภาค (ภาคใต้) แก้ปัญหานำเที่ยวข้ามจังหวัดไม่ได้

สตูล การบริการและการท่องเที่ยว

‘มัคคุเทศก์หรือไกด์’ อาชีพนำเที่ยวแก่นักท่องเที่ยวซึ่งสงวนไว้เป็นอาชีพเฉพาะของคนไทยสามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศได้จำนวนไม่น้อย ไม่เพียงแต่รายได้จากนักท่องเที่ยวที่จ่ายให้กับบริษัทนำเที่ยวเท่านั้น แต่เม็ดเงินยังหลั่งไหลไปสู่ชุมชนและร้านค้าขนาดย่อมที่รายรอบอยู่ในสถานที่ท่องเที่ยว ซึ่งช่วยสร้างมาตรฐานการท่องเที่ยวและยกระดับคุณภาพชีวิตชุมชนอย่างเลี่ยงไม่ได้

สำหรับการเป็นมัคคุเทศก์ที่ถูกต้องตามกฎหมายจะต้องมีใบอนุญาตเป็นมัคคุเทศก์ จากเดิมกรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบ กำหนดให้มีใบอนุญาตมัคคุเทศก์ 2 ประเภทคือ มัคคุเทศก์ทั่วไป ซึ่งแบ่งเป็น 2 ชนิด คือมัคคุเทศก์ที่นำเที่ยวได้ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ และมัคคุเทศก์ที่นำเที่ยวได้เฉพาะชาวไทยเท่านั้น ส่วนมัคคุเทศก์ประเภทที่ 2 คือมัคคุเทศก์เฉพาะ แบ่งเป็น 8 ชนิด เช่นมัคคุเทศก์เฉพาะพื้นที่ มัคคุเทศก์เดินป่า มัคคุเทศก์ศิลปวัฒนธรรม หรือมัคคุเทศก์ทางทะเล เป็นต้น แต่ในระยะหลังพบปัญหาการจัดการดูแลใบอนุญาตมัคคุเทศก์เฉพาะ ที่กำหนดขอบเขตการทำงานของมัคคุเทศก์ที่จำกัด โดยไม่ให้ทำงานนอกพื้นที่ที่ระบุไว้ในใบอนุญาต

“โครงการอบรมหลักสูตรฝึกอบรมวิชามัคคุเทศก์เฉพาะภูมิภาคกรณีเปลี่ยนผ่านประเภทใบอนุญาตจากมัคคุเทศก์เฉพาะเป็นมัคคุเทศก์เฉพาะภูมิภาค (ภาคใต้ จ.สตูล) : วิทยาลัยชุมชนสตูล” ซึ่งจัดขึ้นโดยวิทยาลัยชุมชนสตูล สถาบันที่ผลิตมัคคุเทศก์ส่วนใหญ่ในจังหวัดสตูล โดยใช้หลักสูตรแกนกลางของกรมการท่องเที่ยวในการอบรม รวมถึงได้รับอนุญาตจากกรมการท่องเที่ยวให้เป็นสถานที่ฝึกอบรมการเปลี่ยนผ่านใบอนุญาตได้เพิ่มเติมนอกเหนือไปจากจังหวัดภูเก็ต ในพื้นที่ภาคใต้ เพื่อเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับบรรเทาผลกระทบจากค่าใช้จ่ายที่ตามมาหลังการเปลี่ยนแปลงระบบการออกใบอนุญาตสำหรับมัคคุเทศก์ในจังหวัดสตูลและพื้นที่ใกล้เคียง


กลุ่มเป้าหมายในโครงการ ฯ นอกจากจะถูกคัดกรองจากใบอนุญาตที่ใกล้หมดอายุแล้ว ผู้ที่ต้องการเปลี่ยนจาก ‘บัตรมัคคุเทศก์เฉพาะ’ เป็น ‘บัตรมัคคุเทศก์ภูมิภาค’ ยังต้องมีใบอนุญาตผ่านการอบรมจากกรมการท่องเที่ยวมาแล้ว จึงจะสามารถเปลี่ยนบัตรและประกอบอาชีพมัคคุเทศก์ได้ ขั้นตอนภายหลังการคัดกรองคือ การสอบคัดเลือกโดยการทดสอบความรู้เดิมเกี่ยวกับการท่องเที่ยวภาคใต้ จากนั้นจึงประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิ์เข้ารับการสัมภาษณ์ โดยสมาคมมัคคุเทศก์อาชีพเป็นผู้สัมภาษณ์ร่วมกับพี่เลี้ยงของโครงการ ฯ เพื่อพิจารณาความรู้เดิมและความเดือดร้อนของกลุ่มเป้าหมาย  

ก่อนที่กลุ่มเป้าหมายที่เข้าร่วมการอบรมทุกคนจะได้รับความรู้ตามหลักสูตรแกนกลางของกรมการท่องเที่ยว ซึ่งกำหนดไว้ 2 โมดูล คือ (1) ความรู้วิชาการทั่วไป โดยวิทยากรของกรมการท่องเที่ยว เนื้อหาเน้นไปที่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว นโยบายการส่งเสริมการท่องเที่ยวของรัฐ และกฎหมายว่าด้วยธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ รวมทั้งกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

และ (2) ความรู้ในภาพกว้าง ซึ่งตรงกับแนวทางของวิทยาลัยชุมชนและทีมพี่เลี้ยง ที่ต้องการเสริมความรู้เกี่ยวกับภูมิศาสตร์ภาคใต้ ประวัติศาสตร์ โบราณคดี และวรรณกรรมท้องถิ่น ที่จะต้องรู้ประวัติศาสตร์อาณาจักรภาคใต้ นอกจากนี้ยังถ่ายทอดเทคนิคการนำเสนอความรู้ให้กับนักท่องเที่ยว และวิธีการพูดให้เป็นกลางมากที่สุด รวมถึงการออกแบบโปรแกรมทัวร์ร่วมกับบริษัททัวร์ หรือการทำโปรแกรมทัวร์ในท้องถิ่น เพื่อรองรับกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีความสนใจแบบเฉพาะ

นอกจากนั้นแล้ว โครงการฯ ยังส่งเสริมให้เกิดการรวมกลุ่มอีกด้วย เนื่องจากที่ผ่านมามัคคุเทศก์ในพื้นที่ยังคงทำงานแบบกระจัดกระจาย ไม่ได้มีการรวมกลุ่ม ซึ่งก่อให้เกิดให้เกิดความยากลำบากในการแก้ไขปัญหา ด้วยเหตุนี้สมาคมมัคคุเทศก์อาชีพและเครือข่ายการท่องเที่ยวจึงได้มีส่วนร่วมในการผลักดันให้เกิดการรวมกลุ่มขึ้นภายหลังการอบรม

จากที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่า โครงการ ฯ เป็นตัวช่วยหนึ่งในการปลดล็อคขอบเขตการทำงานของมัคคุเทศก์ อันหมายถึงรายได้ที่เพิ่มขึ้นแล้ว เสียงสะท้อนจากผู้เข้าร่วมการอบรมยังแสดงให้เห็นถึงความพยายามปรับตัวให้สามารถอยู่รอดได้ท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกปัจจุบัน ด้วยวิธีการพัฒนาทักษะและมองหาช่องทางสร้างรายได้ ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นในระดับปัจเจกบุคคลเท่านั้น แต่สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าคือการพยายามพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตในระดับชุมชน ไปจนถึงระดับจังหวัด เพื่อสร้างมัคคุเทศก์ท้องถิ่นที่เข้าใจวิถีการท่องเที่ยวภายในพื้นที่อย่างยั่งยืนต่อไป

เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น

โครงการอบรมหลักสูตรฝึกอบรมวิชามัคคุเทศก์เฉพาะภูมิภาค กรณีเปลี่ยนผ่านประเภทใบอนุญาตจากมัคคุเทศก์เฉพาะ เป็นมัคคุเทศก์เฉพาะภูมิภาค (ภาคใต้)

ชื่อหน่วยงาน

วิทยาลัยชุมชนสตูล

จังหวัด

สตูล

ปีโครงการ

2562

ติดต่อ

ผู้ประสานงาน: นายอัศวยุช เทศอาเส็น
โทร: 085-0808816

เป้าประสงค์โครงการ

สร้างโอกาสที่เสมอภาคของแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสให้ได้รับการพัฒนายกระดับฝีมือแรงงานที่มีคุณภาพ

สร้างโอกาสที่เสมอภาคของแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสสำหรับคนที่เป็นมัคคุเทศก์เฉพาะอยู่แล้ว ให้ได้รับการฝึกอบรมวิชามัคคุเทศก์เฉพาะภูมิภาค กรณีเปลี่ยนผ่านประเภทใบอนุญาตจากมัคคุเทศก์เฉพาะเป็นมัคคุเทศก์เฉพาะภูมิภาค (ภาคใต้) จังหวัดสตูลและจังหวัดใกล้เคียง จะได้ทำงานถูกต้องตามกฎหมาย

เรื่องราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

กว่า 74 หน่วยงาน 42 จังหวัด กับ 1 เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มีศักยภาพ ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพแก่แรงงานด้อยโอกาส