ม.ราชภัฏสุราษฎร์ออกโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ แก้ปัญหาความมั่นคงทางอาหารและรายได้ให้ชุมชนชนอ่าวบ้านดอน

สุราษฎร์ธานี การแปรรูปผลิตภัณฑ์

ทะเลขนาดใหญ่นามว่า ‘อ่าวบ้านดอน’ ขึ้นชื่อว่าเป็นศูนย์รวมความสมบูรณ์ของทรัพยากรทางทะเล เพราะเป็นพื้นที่รองรับน้ำจากลำคลองน้อยใหญ่หลายสาย ถือเป็นแหล่งประกอบอาชีพเลี้ยงปากท้องของประมงชายฝั่งในจังหวัดสุราษฎร์ธานีมานานหลายปี แต่ว่าการพัฒนาอย่างรวดเร็วในด้านต่างๆ รวมถึงการทำลายสิ่งแวดล้อม ได้แปรเปลี่ยนอ่าวบ้านดอนให้เสื่อมโทรมลง สัตว์น้ำที่เคยมีก็เริ่มสูญหาย 

มโนลี ศรีเปารยะ เพ็ญพงษ์ อาจารย์สาขาวิชาเศรษฐศาสตร์ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี เล่าว่า “ก่อนหน้านี้เคยทำวิจัยเรื่องความมั่นคงทางอาหารที่อ่าวบ้านดอน พบว่าพื้นที่แห่งนี้มีกลุ่มชาวประมงพื้นบ้านที่ประสบปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำทางรายได้อยู่ บางคนมีรายได้สำหรับใช้จ่ายเพียงวันต่อวัน ถ้าวันไหนออกเรือไม่ได้ ติดมรสุม ก็ไม่มีรายได้เลย” 

คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี จังหวัดสุราษฎร์ธานี จึงได้ดำเนิน ‘โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์จากผลิตภัณฑ์จากทะเลเพื่อสร้างมูลค่าให้กับรายได้กับชุมชน’ โดยมุ่งใช้ความรู้ความเชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์มาต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลิตภัณฑ์ของกลุ่มประมงพื้นบ้านอ่าวบ้านดอน ภายใต้การสนับสนุนจากโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)

วิถีของชาวเลที่หาเลี้ยงชีพเพียง ‘จับมา-ขายไป’ เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ชาวประมงพื้นบ้านมีรายได้น้อยและยากจน เพราะนอกจากไม่รู้มูลค่าของสัตว์น้ำที่จับมาแล้ว ราคาขายยังผันแปรไปตามความต้องการหรือกลไกของตลาด โดยที่ชาวประมงไม่สามารถกำหนดราคาสินค้าเองได้ ‘การแปรรูป’ จึงเป็นทางออกหนึ่งที่จะช่วยเพิ่มมูลค่าและสร้างรายได้เพิ่มให้ครอบครัวชาวประมง 

โดยโครงการได้ตั้งเป้าพัฒนาทักษะอาชีพให้ชาวประมงพื้นบ้านที่ด้อยโอกาส ในตำบลพุมเรียง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี จำนวน 60 คน โดยมี จรินทร์ เฉยเชยชม ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์บ้านพุมเรียง อำเภอไชยา รับหน้าที่เป็นคนกลางเชื่อมร้อยข้อมูลข่าวสารสู่ชาวบ้านในพื้นที่ เพราะทำงานกับชุมชนมายาวนาน 

 “ในการประชุมครั้งแรก เราจะถามกลุ่มเป้าหมายเลยว่า ชุมชนมีฐานทรัพยากรอะไร และอยากนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อะไรบ้าง สุดท้ายเมื่อฟังจากเสียงส่วนใหญ่ จึงคัดเลือกออกมาได้ 4 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ ปูจ๋า น้ำพริกปู ไข่หมก และปลาแป้งแดง” มโนลีกล่าว ซึ่งผลิตภัณฑ์ดังกล่าวล้วนมาจากทรัพยากรในท้องถิ่น และเป็นภูมิปัญญาดั้งเดิมของชาวเลพุมเรียงทั้งสิ้น ด้านจรินทร์ อธิบายว่า “น้ำพริกปูของที่นี่ ไม่ได้เด่นแค่รสชาติปูนะ แต่เป็นน้ำพริกปูสู่ความยั่งยืน เพราะน้ำพริกของเราใช้ปูม้าที่เกิดจากการฟื้นฟู บางตัวผ่านธนาคารปูม้าที่ชุมชนดูแล เราพยายามชวนให้แม่ค้า ชาวประมง และเด็กๆ ในพื้นที่ตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรในชุมชนด้วย” 

สำหรับการรวมกลุ่มแปรรูปผลิตภัณฑ์ กลุ่มเป้าหมายสามารถเลือกเรียนรู้ได้ตามความถนัดและความสนใจ ซึ่งคนในกลุ่มที่มีความรู้เป็นทุนเดิมอยู่แล้วจะมาช่วยกันสอน ขณะเดียวกันก็จะมีการดึงปราชญ์ชาวบ้านที่เป็นผู้เฒ่าผู้แก่ ซึ่งมีภูมิปัญญาเรื่องการแปรรูปอาหารทะเลแบบโบราณมาเป็นพี่เลี้ยงด้วย ส่วนเรื่องการวางแผนการผลิตและจำหน่าย จะเปิดโอกาสให้แต่ละกลุ่มบริหารจัดการกันเอง 

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ทุกวันนี้ ช่องทางการค้าขายที่อยู่แค่ในตลาดหรือหน้าร้านค้านั้นไม่เพียงพออีกต่อไป เนื่องจากการค้าขายบนตลาดออนไลน์ได้รับความนิยมมากขึ้น ผู้ประกอบการ ร้านค้า และแม้แต่วิสาหกิจชุมชนต่างๆ จึงต้องเร่งปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของกระแสโลก โดยโครงการก็ได้มีการจัดงานเสวนาที่เชิญผู้เชี่ยวชาญด้านการขายผลิตภัณฑ์ออนไลน์มาอบรม ซึ่งสามารถสร้างองค์ความรู้ใหม่ๆ และแรงบันดาลใจในการปรับตัวสู่ออนไลน์ให้กับกลุ่มเป้าหมายเป็นอย่างมาก

นอกจากนี้โคตรงการยังมีการอบรมสร้างภูมิต้านทานด้านการใช้เงิน สร้างความรู้ด้านเศรษฐศาสตร์ครัวเรือน การจัดทำบัญชีครัวเรือน เพื่อให้ผู้เข้าร่วมโครงการสามารถวิเคราะห์ต้นทุนและผลตอบแทนได้อย่างมีประสิทธิผล ทำให้จากที่เมื่อก่อน กาญจนา มะหมัด อายุ 54 ปี หนึ่งในกลุ่มเป้าหมาย เล่าให้ฟังว่าไม่เคยทำบัญชีครัวเรือนเลย ได้เงินมาเท่าไร ก็ใช้หมด โครงการนี้ก็สอนให้รู้จักเขียนรายละเอียดว่าซื้ออะไรไปบ้าง ราคาเท่าไร ทำให้เธอรู้ว่าตัวเองมีรายรับ-รายจ่ายเท่าไร ทำให้ใช้จ่ายเป็นและมีเงินเหลือ 

อย่างไรก็ดี ตลอดระยะเวลาการทำโครงการที่ผ่านมา มโนลี เล่าว่า “แม้วันนี้จะยังวัดผลสำเร็จไม่ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่เชื่อว่าความรู้และกระบวนการต่างๆ จะช่วยปรับมุมมองความคิดในการเพิ่มมูลค่า สร้างอาชีพ และรายได้เสริมให้กับครอบครัวประมงพื้นบ้านอ่าวบ้านดอนได้ และยิ่งสินค้าขายดี ก็จะเป็นโอกาส ประกอบกับถ้าชาวบ้านยังให้ความสำคัญกับการทำบัญชีครัวเรือน เราก็เชื่อว่าพวกเขาจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น”

กาญจนา ยังได้เสริมปิดท้ายอีกว่า ข้อดีของอีกประการของโครงการนี้ก็คือ การได้มาทำงานรวมกลุ่มกับเพื่อนๆ เอาประสบการณ์ที่มีมาแลกเปลี่ยนกัน มีเวลาว่างก็มารวมกันทำอาชีพเสริม ทำให้ได้รู้ว่าการทำงานกับส่วนรวมเป็นอย่างไร ช่วยให้เกิดความรัก ความสามัคคี เป็นประสบการณ์ร่วมกันที่ดีของคนในชุมชน

ทุกวันนี้ ผลิตภัณฑ์ประมงพื้นบ้านที่ถูกนำไปวางขายตามช่องทางต่างๆ ไม่เพียงเป็นความหวังในการสร้างรายได้ เพื่อต่อลมหายใจให้กับชาวประมงในหลายครอบครัวเท่านั้น แต่ยังเป็นการส่งต่อภูมิปัญญาอันล้ำค่าจากวิถีชาวเลบ้านพุมเรียงให้คงอยู่ต่อไปอีกด้วย 

“ความรู้และกระบวนการต่างๆ ของโครงการได้ช่วยปรับมุมมองความคิดในการเพิ่มมูลค่า สร้างอาชีพ และรายได้เสริมให้กับครอบครัวประมงพื้นบ้านอ่าวบ้านดอนได้ และยิ่งสินค้าขายดี ก็จะเป็นโอกาส ประกอบกับถ้าชาวบ้านยังให้ความสำคัญกับการทำบัญชีครัวเรือน เราก็เชื่อว่าพวกเขาจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น” มโนลี ศรีเปารยะ เพ็ญพงษ์ อาจารย์สาขาวิชาเศรษฐศาสตร์ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี

เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น

พัฒนาและต่อยอดผลิตภัณฑ์กลุ่มประมงพื้นบ้านอ่าวบ้านดอนเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต

ชื่อหน่วยงาน

คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี

จังหวัด

สุราษฎร์ธานี

ปีโครงการ

2562

ติดต่อ

ผู้ประสานงาน: นางมโนลี ศรีเปารยะ เพ็ญพงษ์
โทร: 087-4699894

เป้าประสงค์โครงการ

เกิดผลิตภัณฑ์ที่ได้มาตรฐานสามารถจำหน่ายหรือแปรรูปจากการอบรมเพื่อไปสร้างรายได้ให้กับครัวเรือน รวมถึงมีความสามารถในการจัดทำบัญชีครัวเรือน สามารถออมเงินเพื่อใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน

เรื่องราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

กว่า 74 หน่วยงาน 42 จังหวัด กับ 1 เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มีศักยภาพ ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพแก่แรงงานด้อยโอกาส