‘ขวัญชุมชน’ มูลนิธิที่ยกระดับแรงงานนอกระบบในชุมชนด้วยโครงการฝึกทักษะ ‘ผ้าไหมสร้างสรรค์’

สุรินทร์ งานหัตถกรรมและฝีมือ

ตำบลจารพัต เป็นพื้นที่ที่มีการผลิตผ้าไหมทอมือที่มาจากแรงงานในครอบครัวเป็นส่วนมาก โดยพบว่า แรงงานทอผ้าที่เป็นกลุ่มเป้าหมายมี 2 ลักษณะสำคัญคือ 1.คนวัยแรงงานที่มีทักษะในการผลิตแต่ไม่มีความรู้ครอบคลุมตลอดทั้งกระบวนการ กับ 2.เยาวชนที่ขาดทักษะด้านนี้โดยตรงและเป็นแรงงานรับจ้างรายวัน 

มูลนิธิขวัญชุมชนทำการวิเคราะห์ชุมชน และเห็นจุดเด่นของชุมชนที่มีต้นทุนทางสังคมอยู่แล้ว เช่น มีครูภูมิปัญญาทอผ้าไหมและมีภาคีระดับท้องถิ่นที่ช่วยเกื้อหนุน แต่อาชีพขายผ้าไหมยังพบปัญหาในการผลิตและการขาย จึงเป็นที่มาของแนวทางการดำเนินโครงการ 3 ข้อ คือ

  1. สนับสนุนและส่งเสริมทักษะด้านการทอ การย้อมสีธรรมชาติ  และการปรับปรุงผลิตภัณฑ์
  2. สนับสนุนให้แรงงานนอกระบบเข้าถึงตลาดผู้บริโภคกลุ่มที่มีศักยภาพ
  3. ส่งเสริมให้เกิดศูนย์เรียนรู้หัตถกรรมพื้นบ้านขึ้นในชุมชน

เมื่อมีแนวทางที่ชัดเจนแล้ว มูลนิธิจึงได้ลงพื้นที่เพื่อเข้าไปวิเคราะห์กลุ่มเป้าหมาย และพบว่ามีกลุ่มเป้าหมายที่เข้าเกณฑ์ของโครงการอยู่ 2 กลุ่ม คือแรงงานนอกระบบและเยาวชนที่ขาดโอกาส จากนั้นจึงเปิดรับสมัครสมาชิกเข้ามาร่วมโครงการ โดยมีตัวเลขผู้เข้าร่วมทั้งสิ้น 70 คน โดยระหว่างที่ทำการรับสมัครสมาชิกใหม่ โครงการได้เริ่มดำเนินงานพัฒนาทักษะ พร้อมกับการพัฒนา Module เสริมความรู้ไปพร้อมกัน 

โครงการได้เริ่มต้นกระบวนการพัฒนา โดยอบรมเรื่องการวางแผนชีวิตและวางแผนการเงินเป็นอันดับแรก ซึ่งหลังจากที่ผ่านวิชานี้ไป โครงการก็พบว่ากลุ่มสมาชิกได้เปลี่ยนมุมมองการทำงานโดยมีเป้าหมายในชีวิตมากขึ้น รวมถึงมีเป้าหมายในการวางแผนครัวเรือนเพิ่มขึ้นด้วย เพราะวิทยากรได้เน้นเรื่องการคำนวนรายจ่ายคงที่ และการจัดการด้านการเงินให้มีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ มูลนิธิยังมีการจัดทำเสื้อทีมในการประชาสัมพันธ์งานของโครงการ เพื่อกระตุ้นการมีส่วนร่วมของชุมชน ตลอดจนการลงพื้นที่ติดตามผลการดำเนินงานอย่างใกล้ชิด 

จากวันที่สมาชิกเข้ามาร่วมฝึกฝนในโครงการจนถึงวันนี้ ก็นับว่าเป็นเวลาหลายเดือนแล้ว เจ้าหน้าที่โครงการและมูลนิธิเองได้เห็นความก้าวหน้าของกลุ่มสมาชิกอย่างชัดเจน โดยเฉพาะเรื่องของการลดละสารเคมีที่ใช้ในการย้อมผ้า “หลังจากที่จัดอบรมเทคนิคการย้อมสีธรรมชาติให้กับสมาชิกในโครงการ สมาชิกคนทอผ้ากว่าครึ่งก็หันมาใช้สีธรรมชาติในการย้อม จากเดิมที่เคยใช้แต่สีเคมีก็เปลี่ยนพฤติกรรมมาเสาะหาไม้ให้สีที่มีอยู่ในชุมชน ไม่ว่าจะเป็น คราม ครั่ง และเข ซึ่งนอกจากเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับผลงานด้วย จากผ้าไหมสีเคมีที่ขายได้ในราคา 1300 – 1500 บาท เมื่อปรับมาผลิตด้วยสีธรรมชาติจะขายได้ถึง 2,500 – 3,500 บาท” หนึ่งในเจ้าหน้าที่โครงการกล่าว

“เราได้ปลุกปั้นและฝึกฝนอบรมสมาชิกที่ไม่มีทักษะใดเลย ให้กลายเป็นแรงงานที่มีทักษะฝีมือดี คือสามารถทอผ้า มัดลายและย้อมผ้าด้วยสีธรรมชาติได้ นอกจากนี้โครงการยังเน้นให้สมาชิกจัดทำบัญชีรายรับ – รายจ่าย เพื่อหาวิธีการลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น ซึ่งเป็นทางออกของการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนด้วย”

ในปัจจุบัน นับว่าโครงการได้ก้าวมาไกลจากจุดเริ่มต้นมาพอสมควร ทว่ายังมีระยะทางอีกมากมายกว่าจะถึงจุดที่เรียกได้ว่าประสบความสำเร็จ โดยมูลนิธิขวัญชุมชนได้วางโมดูลการพัฒนาไว้ 4 โมดูล คือ

  1. โมดูลฝึกวางแผนชีวิตวางแผนการเงิน
  2. โมดูลฝึกให้ก้าวทันโลกในฐานะผู้ประกอบการผ้าไหมรุ่นใหม่
  3. โมดูลฝึกการตลาด การพัฒนาผลิตภัณฑ์
  4. แนวคิด Fair Trade & Supply Chain 

หลังจากที่สมาชิกได้เรียนรู้และผ่านการฝึกฝนครบทั้ง 4 โมดูลแล้ว มูลนิธิขวัญชุมชนก็วางวิสัยทัศน์ไว้สำหรับอนาคตดังนี้

  1. จะต้องพัฒนาผ้าทอพื้นบ้านทั้งในด้านทักษะ ผลิตภัณฑ์  การออกแบบ และการตลาด ให้ครบทั้งระบบ
  2. ทำให้เกิดการรวมกลุ่มเป็นวิสาหกิจผ้าไหมสร้างสรรค์
  3. หาโอกาสระดมทุนและทรัพยากรในระดับท้องถิ่น เพื่อสร้างความเข้มแข็งทางการเงินให้กับสมาชิก รวมถึงขยายฐานสมาชิกเป็นคนรุ่นใหม่ๆ ที่มีความสนใจเพิ่มเติมด้วย ซึ่งแน่นอนว่าการขยายฐานสมาชิกโครงการนั้น เป็นก้าวสำคัญที่จะช่วยส่งต่อภูมิปัญญาระหว่างคนรุ่นก่อนและคนรุ่นใหม่ รวมถึงจะสามารถนำไอเดียจากคนรุ่นใหม่มาใช้ในการพัฒนาโครงการได้เป็นอย่างดี

“เราได้ปลุกปั้นและฝึกฝนอบรมให้สมาชิกที่ไม่มีทักษะใดเลย ให้กลายเป็นแรงงานที่มีทักษะฝีมือดี” – หนึ่งในเจ้าหน้าที่โครงการ

เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น

โครงการเตรียมความพร้อมสู่ตลาดงานสร้างสรรค์กลุ่มแรงงานนอกระบบขาดโอกาสในชุมชน

ชื่อหน่วยงาน

มูลนิธิขวัญชุมชน

จังหวัด

สุรินทร์

ปีโครงการ

2562

ติดต่อ

ผู้ประสานงาน: นางสุภาพร ทองสุข
โทร: 081-7905876 , มือถือสำนักงาน 081-9764700

เป้าประสงค์โครงการ

  1. เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ในการพัฒนาตนเอง พร้อมกับความรู้และทักษะที่จำเป็นต่อการดำเนินกิจการ ของแรงงานนอกระบบขาดโอกาสโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน
  2. เชื่อมโยงและสนับสนุนให้กลุ่มแรงงานนอกระบบขาดโอกาสเข้าถึงตลาดหรือกลุ่มผู้บริโภคที่มีศักยภาพ
  3. ส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดศูนย์การเรียนรู้หัตถกรรมพื้นบ้านในชุมชน

เรื่องราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

กว่า 74 หน่วยงาน 42 จังหวัด กับ 1 เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มีศักยภาพ ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพแก่แรงงานด้อยโอกาส