วิทยาลัยชุมชนมุกดาหาร จับนวดไทยมาสอนคนตำบลร่มเกล้า เตรียมชุมชนให้พร้อมรับนักท่องเที่ยวดูกังหันยักษ์

มุกดาหาร การบริการและการท่องเที่ยว

พื้นที่ อ.นิคมคำสร้อย เป็นจุดท่องเที่ยวสายวัฒนธรรม และเป็นตำบลที่ได้รับการส่งเสริมในเรื่องของศิลปะวัฒนธรรม ภูมิปัญญา การทอผ้า และแปรรูปผ้าพื้นเมือง ทำให้มีนักท่องเที่ยวสนใจเข้ามาเยี่ยมชมตำบลร่มเกล้าและบริเวณพื้นที่ใกล้เคียงอย่างไม่ขาดสาย โดยตัวชุมชมเองมีการชูจุดเด่นของท้องถิ่นในเรื่องผ้าทอภูไท อาหารพื้นถิ่น รวมถึงมีแลนด์มาร์คสำคัญด้านการท่องเที่ยวอย่าง ‘กังหันลมผลิตพลังงาน’ ที่สวยงามและโดดเด่นจำนวน 13 ต้น

จากเหตุปัจจัยเหล่านี้ ทำให้วิทยาลัยชุมชนเห็นโอกาสในการสร้างแรงงานที่จะช่วยตอบความต้องการของนักท่องเที่ยว อย่างอาชีพนวดไทยเพื่อสุขภาพ เพื่อเป็นอีกรูปแบบในการสร้างรายได้ของชุมชน ซึ่งหนึ่งในเหตุผลสำคัญที่วิทยาลัยชุมชนเลือกการพัฒนาอาชีพนวดไทยนั้น เกิดจากการที่ตัวหน่วยงานมีวิทยากรที่มีความรู้ความสามารถด้านการนวดไทย และเป็นผู้อนุญาตใบขึ้นทะเบียนสำหรับสถานประกอบการเพื่อสุขภาพอยู่แล้ว จึงมีความมั่นใจว่าจะสามารถพัฒนาแรงงานที่มีความต้องการเรียนรู้ ให้ได้มาตรฐานฝีมือแรงงานระดับ 1 ด้านการนวดไทย เพราะการเรียนนวดไทยเพื่อการประกอบอาชีพ นั้นต้องมีมาตรฐาน และยังเป็นศาสตร์ที่มีความลึกซึ้งที่ต้องอาศัยผู้ชำนาญการในการฝึกสอน

วิทยาลัยชุมชนได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อขับเคลื่อนกิจกรรม โดยมีบทบาทสำคัญในการประชาสัมพันธ์โครงการให้กับกลุ่มชุมชนใน 3 ตำบลคือตำบลร่มเกล้า ตำบลโชคชัน และตำบลกกแดง เพื่อให้คนในชุมชนเห็นความสำคัญของการพัฒนาทักษะฝีมือและการสร้างอาชีพให้แก่ตนเอง โดยมีการเชิญชวนให้สมัครเข้าร่วมโครงการควบคู่ไปกับการประชาสัมพันธ์ด้วย

กลุ่มเป้าหมายของโครงการไม่ใช่กลุ่มหมอนวดมืออาชีพที่มีทักษะอยู่แล้ว ทว่าเป็นกลุ่มเกษตรกรผู้มีรายได้น้อยและผู้ว่างงาน จำนวน 90 คน ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ 3 ตำบลดังกล่าว โดยเกณฑ์สำคัญในการรับสมัครคือจะต้องมีความตั้งใจในการพัฒนาทักษะการนวดไทยและมีความมุ่งมั่นในการสร้างรายได้เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของตนเองและครอบครัว

โครงการ ‘การสร้างงาน สร้างอาชีพ กับการนวดไทยเพื่อสุขภาพ’ ได้พัฒนาหลักสูตรการฝึกฝนอบรมตั้งแต่ระดับพื้นฐาน ซึ่งประกอบไปด้วย กายวิภาคศาสตร์ ทฤษฎีการแพทย์แผนไทย เภสัชกรรมไทยเบื้องต้น ประวัติองค์ความรู้และการประยุกต์ใช้ กฎหมายและจรรยาบรรณวิชาชีพ การนวดไทยเพื่อสุขภาพ การนวดผ่อนคลาย ไปจนถึงการฝึกภาคปฏิบัติที่เข้มข้น รวมทั้งสิ้นทุกวิชาจะต้องใช้เวลาถึง 231 ชั่วโมง ในการเรียนให้จบหลักสูตร

เจ้าหน้าที่โครงการเล่าถึงความก้าวหน้าของสมาชิกในโครงการให้ฟังว่า “หลังจากผ่านหลักสูตรของโครงการครบแล้ว เรามีสมาชิกที่สามารถผ่านการทดสอบของโครงการจำนวน 58 คน ซึ่งแต่ละคนก็จะได้ใบรับรองจากวิทยาลัยชุมชนทั้งหมด 5 ใบ คือวุฒิบัตรนวดไทยเพื่อสุขภาพ วุฒิบัตรนวดเท้าเพื่อสุขภาพ ซึ่งวุฒิทั้งสองชนิดนี้จะประกอบด้วยภาคภาษาไทยและภาษาอังกฤษรวมเป็น 4 วุฒิ และใบขึ้นทะเบียนผู้ได้รับอนุญาตเป็นผู้ประกอบการในสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ ซึ่งสามารถนำไปต่อยอดเป็นเจ้าของร้านนวดไทยได้ทันที

นอกเหนือไปจากวุฒิเบื้องต้นทั้ง 5 ประเภทแล้ว ยังมีสมาชิกอีกกลุ่มหนึ่งเลือกที่จะไปสอบเพิ่มเติมเพื่อให้ได้ใบรับรองจากสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงาน ในสาขาอาชีพพนักงานนวดไทยเพื่อสุขภาพ โดยใบรับรองนี้จะทำให้สามารถเดินทางไปทำงานนวดไทยในต่างประเทศได้

ความเข้มข้นของหลักสูตรและการทดสอบในโครงการนี้ ทำให้บุคคลากรที่ผ่านการฝึกฝนจากโครงการมีคุณภาพมาตรฐานสากลจริงๆ ซึ่งสามารถนำเอาวิชาความรู้ไปใช้ในการประกอบอาชีพได้ทันที นอกจากนี้ยังนำไปต่อยอดเป็นใบอนุญาตในระดับที่สูงขึ้นไปเพื่อเพิ่มศักยภาพของฐานรายได้ได้ด้วย และล่าสุดด้านของหน่วยงานท้องถิ่นตำบลร่มเกล้าก็ได้เตรียมสร้างร้านนวดไทยเพื่อสุขภาพเพื่อมารองรับแรงงานที่ผ่านการอบรมจากวิทยาลัยชุมชนด้วย ซึ่งนับว่าเป็นแนวคิดอันดีที่ทำให้โครงการนี้มีความ ‘ครบวงจร’ ในแง่ของการสร้างแรงงานขึ้นมาเพื่อตอบความต้องการของชุมชนจริงๆ

เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น

โครงการสร้างคนสร้างงานกับการนวดไทยเพื่อสุขภาพ

ชื่อหน่วยงาน

วิทยาลัยชุมชนมุกดาหาร

จังหวัด

มุกดาหาร

ปีโครงการ

2562

ติดต่อ

ผู้ประสานงาน: นางวัชราภรณ์ ชนะเคน
โทร: 096-0949554

เป้าประสงค์โครงการ

  1. ผู้ผ่านการฝึกอบรมสามารถให้บริการนวดไทยเพื่อสุขภาพได้
  2. ผู้ผ่านการฝึกอบรมเป็นผู้ให้บริการนวดไทยที่ได้มาตรฐานของสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงาน 80 %
  3. ตรึงประชาชนวัยแรงงานให้อยู่ในพื้นที่หรือชุมชนของตนเอง ไม่ต้องเคลื่อนย้ายแรงงาน
  4. สนับสนุนการจัดการท่องเที่ยวโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน (Community – based Tourism: CBT)

เรื่องราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

กว่า 74 หน่วยงาน 42 จังหวัด กับ 1 เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มีศักยภาพ ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพแก่แรงงานด้อยโอกาส