วิทยาลัยชุมชนสมุทรสาครเปิดโครงการฝึกกอาชีพควั่นมะพร้าวน้ำหอม ตอบโจทย์ตลาดแรงงานที่กำลังขาดแคลน

สมุทรสาคร เกษตรกรรม

อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร คืออำเภอที่ขึ้นชื่อว่ามีมะพร้าวน้ำหอมรสชาติดีและแตกต่างจากพื้นที่อื่น ซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ทำให้มะพร้าวน้ำหอมจากที่แห่งนี้ยิ่งเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคมากขึ้น ความต้องการที่สูงขึ้นของตลาด ทำให้อาชีพ ‘ควั่นมะพร้าว’ มีจำนวนไม่เพียงพอ เนื่องจากอาชีพนี้คือแรงงานที่ต้องใช้ทักษะและความชำนาญสูง แรงงานรุ่นใหม่ๆ จึงยังมีฝีมือไม่ทัดเทียม

วิทยาลัยชุมชนสมุทรสาครได้เห็นโอกาสนี้ จึงได้จัดทำโครงการพัฒนาทักษะอาชีพการควั่นมะพร้าวน้ำหอมขึ้น เพื่อฝึกฝนแรงงานในพื้นที่ให้มีทักษะตามมาตรฐานงานประภทนี้ โดยมีกลุ่มเป้าหมายซึ่งเป็นผู้ด้อยโอกาสสนใจมาเข้าร่วมโครงการจำนวน 60 คน ประกอบไปด้วยกลุ่มผู้ว่างงานและมีรายได้น้อย โดยหน่วยพัฒนาอาชีพได้แบ่งหลักสูตรตามต้องการของกลุ่มเป้าหมายเป็น 3 ประเภทคือ 1.หลักสูตรแรงงาน 2.หลักสูตรแรงงานมีฝีมือ 3.หลักสูตรผู้ประกอบการ เพื่อจัดกลุ่มเนื้อหาในการอบรมฝึกฝน

ในเบื้องต้นกลุ่มเป้าหมายทุกคนจะได้เข้าอบรมในเรื่องความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับมะพร้าวน้ำหอมบ้านแพ้ว จากนั้นจึงขยับไปเป็นการควั่นมะพร้าวตั้งแต่ทฤษฎีจนถึงการฝึกปฏิบัติ โดยในส่วนของกลุ่มที่ต้องการก้าวไปเป็นผู้ประกอบการ โครงการก็ได้มีการอบรมในส่วนนี้ด้วยเช่นกัน ซึ่งจะเน้นหนักในวิชาการตลาด การทำบัญชี และการบริหารจัดการกลุ่ม

“สิ่งสำคัญคือการพัฒนาหลักสูตรให้สอดคล้องความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย โดยทีมจากวิทยาลัยชุมชนได้ลงพื้นที่เพื่อสำรวจข้อมูลชุมชน และพบว่าในชุมชนมีปัญหาการขาดแคลนแรงงานในการควั่นมะพร้าวน้ำหอมเพื่อจัดจำหน่าย เราจึงได้ทำการถอดบทเรียนจากผู้เชี่ยวชาญ จนได้หลักการควั่นมะพร้าวน้ำหอมที่มีประสิทธิภาพ มาฝึกอบรมแรงงานรุ่นใหม่ๆ ต่อไป” 

หลังจากที่ผ่านการอบรมฝึกฝนและฝึกงานในสถานประกอบการจริง กลุ่มเป้าหมายมีพัฒนาการไปในทางที่ดีขึ้น มีประสบการณ์และทักษะที่ต่อยอดจากเดิม บางส่วนมีความรู้และความเข้าใจในการเป็นผู้ประกอบการมากขึ้น ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องที่ดีต่ออุตสาหกรรมมะพร้าวน้ำหอมในจังหวัดสมุทรสาคร ที่จะมีจำนวนแรงงานฝีมือเพิ่มเข้าไปในระบบ

เมื่อหน่วยงานพัฒนาอาชีพได้เลือกเอาต้นทุนของชุมชนมาวิเคราะห์ร่วมกับปัญหาของชุมชน ทำให้เกิดการกระบวนการแก้ปัญหาที่จะช่วยทั้งผู้คนในพื้นที่ ผู้ประกอบการ และชุมชนในภาพรวมเอง มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นไปพร้อมๆ กัน ขณะเดียวกันเมื่อโครงการสามารถสร้างความแข็งแรงให้กับการใช้ต้นทุนของชุมชนได้แล้ว การพัฒนานั้นย่อมเกิดความยั่งยืนเนื่องจากเป็นการนำเอาจุดเด่นที่ลอกเลียนแบบได้ยากของพื้นที่มาต่อยอดเพิ่มความเข้มแข็ง

เราได้ทำการถอดบทเรียนจากผู้เชี่ยวชาญ จนได้หลักการควั่นมะพร้าวน้ำหอมที่มีประสิทธิภาพ มาฝึกอบรมแรงงานรุ่นใหม่ๆ ต่อไป

เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น

พัฒนาอาชีพการฟั้นมะพร้าวน้ำหอม อ.บ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร

ชื่อหน่วยงาน

วิทยาลัยชุมชนสมุทรสาคร

จังหวัด

สมุทรสาคร

ปีโครงการ

2562

ติดต่อ

ผู้ประสานงาน: นายชานนท์ ประชุมชื่น
โทร: 089-0056076

เป้าประสงค์โครงการ

สร้างโอกาสที่เสมอภาคของแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสให้ได้รับการพัฒนายกระดับฝีมือแรงงานที่มีคุณภาพ

  1. เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับขั้นตอน และรูปแบบการฟั้นมะพร้าวน้ำหอมเพื่อการจัดจำหน่าย
  2. สร้างโอกาสที่เสมอภาคของผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสให้ได้รับการฝึกทักษะ ทางด้านอาชีพการฟั้นนมะพร้าวน้ำหอมตลอดจนส่งเสริมให้สามารถมีงานทำ
  3. เพื่อพัฒนาทักษะการฟั้นมะพร้าวน้ำหอมเพื่อการจัดจำหน่ายในรูปแบบต่างๆ
  4. เพื่อพัฒนาเจตคติในการประกอบอาชีพเป็นผู้ฟั้นมะพร้าวน้ำหอม

เรื่องราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

กว่า 74 หน่วยงาน 42 จังหวัด กับ 1 เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มีศักยภาพ ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพแก่แรงงานด้อยโอกาส