ยุติความเหลื่อมล้ำในอำเภอกัลยาณิวัฒนา ผ่านโครงการพัฒนาอาชีพทอผ้าท้องถิ่นที่ทำให้กลุ่มสตรีฯ เหนียวแน่นกันมากขึ้น

ขอนแก่น งานหัตถกรรมและฝีมือ

ภูมิปัญญา ‘ผ้าทอ’ ของชาวปกาเกอะญอนั้น นับว่าเป็นหนึ่งในภูมิปัญญาที่สร้างมูลค่าให้กับทรัพยากรที่หาได้ง่ายในชุมชนอย่างมหาศาล วิสาหกิจชุมชนสินค้าแม่แดดน้อยได้เห็นความสำคัญของภูมิปัญญานี้และต้องการที่จะอนุรักษ์สืบสานให้คงอยู่คู่กับชุมชนปกาเกอะญอต่อไป และที่สำคัญคือจะต้องยังคงเป็นผ้าทอที่ทำโดยฝีไม้ลายมือของสตรีในชุมชนอำเภอกัลยาณิวัฒนา จ.เชียงใหม่ด้วย

โครงการการพัฒนาอาชีพของกลุ่มสตรีปกาเกอะญอถือกำเนิดขึ้นมาด้วยจุดประสงค์สามข้อหลักคือ

  1. เพิ่มมูลค่าผ้าทอท้องถิ่นสู่การเป็นสินค้าร่วมสมัย
  2. การพัฒนาเป็นแหล่งเรียนรู้ผ้าทอปกาเกอะญอต้นแบบ
  3. พัฒนาทักษะการทำน้ำยาเอนกประสงค์จากธรรมชาติเพิ่มรายได้ โดยมีกลุ่มเป้าหมายจำนวน 150 คน ที่อาศัยภายในพื้นที่3 ตำบลคือ ตำบลแม่แดด ตำบลบ้านจันทร์ และตำบลแจ่มหลวง ซึ่งอยู่ภายใต้อำเภอกัลยาณิวัฒนาทั้งสิ้น

กลุ่มเป้าหมายส่วนใหญ่ที่เข้าร่วมโครงการคือเหล่าสตรีผู้สูงอายุ เกษตรกร ผู้ว่างงาน และผู้ถือบัตรสวัสดิการฯ โดยการคัดเลือกสมาชิกจะเริ่มจากการหารือกับประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชน และนำรายชื่อไปหารือกับที่ประชุมของหมู่บ้าน จากนั้นก็จะให้คนในชุมชนได้มีส่วนร่วมในการคัดเลือก จนได้สมาชิกจำนวน 150 คน ที่มีความต้องการพัฒนาต่อยอดทักษะการทอ รวมถึงมีคุณสมบัติตรงกับกลุ่มเป้าหมายที่โครงการได้กำหนดไว้ด้วย

จากนั้นโครงการก็จะพาสมาชิกทั้งหมดเข้ามาอบรมกรรมวิธีการทอผ้าด้วยกี่ตั้งแต่ระดับพื้นฐาน จนค่อยๆ ไต่ระดับให้สูงขึ้นไป เช่น การย้อมสีเส้นด้ายโดยสีธรรมชาติ การสร้างลายผ้า การทอผ้ากี่ใหญ่และกี่เอว การตัดเย็บผ้า และการทำการตลาดเพื่อเป็นช่องทางการขาย เป็นต้น

หลังจากที่เริ่มต้นโครงการไปได้ช่วงเวลาหนึ่ง วิสาหกิจชุมชนก็ได้เห็นการพัฒนาของสมาชิกที่มีแนวโน้มไปในทางบวก โดยพบว่ากลุ่มสมาชิกสามารถย้อมสีผ้าฝ้ายดิบได้โดยใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในชุมชน กลุ่มสมาชิกมีความเสียสละมากขึ้น ลงมือฝึกฝนอย่างตั้งใจ และมีน้ำใจต่อเพื่อนร่วมโครงการ นอกจากนี้ความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในแต่ละพื้นที่ก็มีความแน่นแฟ้นมากขึ้น มีการคุยแลกเปลี่ยนกันมากขึ้น ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องที่ส่งผลดีต่อกลุ่มวิสาหกิจไปในตัว

หนึ่งในสมาชิกโครงการได้เล่าให้ฟังถึงกิจกรรมที่ประทับใจที่สุดในช่วงเวลาที่จัดอบรมว่า “ส่วนตัวแล้วชอบกิจกรรมผ้าทอกี่เอวมากที่สุด เพราะทำให้สมาชิกสามารถนำไปปฏิบัติได้จริง โดยหลังจากที่จบหลักสูตรก็ได้ไปดูตามครัวเรือนต่างๆ ของเพื่อนบ้าน แล้วพบว่าแทบทุกบ้านที่เข้าร่วมโครงการมีการทอผ้าเพื่อเอาไว้ใช้งานเองและมีส่วนที่แบ่งไว้ขายด้วย นอกจากนี้กิจกรรมที่โครงการจัดขึ้นยังช่วยฝึกฝนให้พวกเรามีฝีมือการทอที่ปราณีตขึ้นด้วย”

มากไปกว่าความประทับใจที่มีต่อกิจกรรมเสริมสร้างทักษะ ผลพลอยได้จากการรวมกลุ่มก็คือความแน่นแฟ้นของสมาชิกจากต่างพื้นที่ “ชุมชนมีความสามัคคีกันมากขึ้น รักกันมากขึ้น มีความสุข และมีรายได้เสริม” หนึ่งในสมาชิกโครงการกล่าวสั้นๆ แต่รวบยอดของประโยชน์ที่โครงการพัฒนาอาชีพฯ ได้ก่อให้เกิดขึ้นกับชุมชนทั้ง 3 พื้นที่

การที่สมาชิกในโครงการมีพัฒนาการด้านทักษะตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ สะท้อนให้เห็นว่ากลุ่มสตรีในชุมชนยังมีศักยภาพที่ซุกซ่อนอยู่อีกมาก ซึ่งศักยภาพเหล่านั้นเมื่อได้ถูกขัดเกลาและส่งเสริมก็ทำให้สามารถสร้างรายได้ให้กับตนเองและครอบครัวได้ นอกเหนือไปจากนั้น สตรีกลุ่มนี้ยังเป็นเรี่ยวแรงที่สำคัญในการอนุรักษ์สืบสานอัตลักษณ์ของผ้าทอปกาเกอะญอให้คงอยู่ต่อไปด้วย

นอกจากนี้การที่โครงการที่ให้ความสำคัญกับการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่มาสร้างเป็นผลิตภัณฑ์เสริมรายได้นั้น ย่อมช่วยสร้างสำนึกของการดูแลรักษาธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้กับคนในพื้นที่ควบคู่กันไปด้วย ซึ่งแน่นอนว่าในระยะยาว สิ่งเหล่านี้ย่อมจะส่งผลดีแก่พื้นที่ป่า ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมของชุมชนด้วย

“ชอบกิจกรรมผ้าทอกี่เอวมากที่สุด เพราะทำให้สมาชิกสามารถนำไปปฏิบัติได้จริง” หนึ่งในสมาชิกของโครงการ

 

เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น

การพัฒนาอาชีพของกลุ่มสตรีปกาเกอะญอผู้ด้อยโอกาสและขาดแคลนทุนทรัพย์

ชื่อหน่วยงาน

วิสาหกิจชุมชนสินค้าแม่แดดน้อย

จังหวัด

ขอนแก่น

ปีโครงการ

2562

ติดต่อ

ผู้ประสานงาน: นางอานันต์ศรี แก้วเลิศตระกูล
โทร: 098-7565273

เป้าประสงค์โครงการ

สร้างความเป็นธรรมและความเท่าเทียมของแรงงานกลุ่มสตรีปกาเกอะญอที่ด้อยโอกาสและขาดแคลนทุนทรัพย์ในชุมชน เพื่อการพัฒนาทักษะความสามารถในการสร้างอาชีพ และสร้างรายได้โดยตนเองอย่างภาคภูมิใจ และการรักษาภูมิปัญญาของปกาเกอะญออย่างยั่งยืน

เรื่องราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

กว่า 74 หน่วยงาน 42 จังหวัด กับ 1 เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มีศักยภาพ ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพแก่แรงงานด้อยโอกาส