กศน.อำเภอภูซางฟื้นฟูทักษะการผลิตผ้าที่เป็นอัตลักษณ์ของกลุ่มสตรี สร้างอาชีพ เสริมความแข็งแกร่งให้กับกลุ่มชาติพันธุ์ในจังหวัดพะเยา
พื้นที่ในอำเภอภูซาง จังหวัดพะเยา คือพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมและกลุ่มชาติพันธุ์เป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นชุมชนชาวลาวที่อพยพย้ายถิ่นฐานมา ซึ่งประชากรแต่ละกลุ่มในพื้นที่ก็มีทั้งปัญหาและความต้องการที่แตกต่างกัน แต่มีจุดร่วมที่คล้ายคลึงกันคือมีกลุ่มคนด้อยโอกาสและขาดแคลนทุนทรัพย์กระจายตัวอยู่ในหลายชุมชน โครงการพัฒนาอาชีพการผลิตผ้าของสตรีภูซาง ได้มุ่งเป้าไปที่กลุ่มสตรีซึ่งมีทักษะที่เป็นจุดแข็งหลายประการ เช่น ทักษะพื้นฐานการทอผ้า ทักษะการเขียนเทียน รวมถึงความสามารถในการหาซื้อวัตถุดิบราคาถูกจากประเทศเพื่อนบ้าน ทว่าทักษะสำคัญที่หลายคนในชุมชนยังขาดอยู่คือการพัฒนาผลิตภัณฑ์ การพัฒนาวัตถุดิบ และการทำการตลาด
โครงการพัฒนาอาชีพฯ จึงได้เกิดขึ้นเพื่อเข้ามาช่วยสนับสนุนและเติมเต็มทักษะที่ขาดของสตรีใน 3 พื้นที่ของอำเภอภูซาง คือ 1.ชุมชนบ้านฮวก 2.ชุมชนบ้านคอดยาว 3.ชุมชนบ้านใหม่รุ่งทวี
หลังจากที่ได้ทำการลงพื้นที่สำรวจความต้องการและจุดเด่น-จุดด้อยในด้านทักษะอาชีพของประชากรทั้ง 3 พื้นที่ กศน.ภูซางจึงได้ออกแบบแนวทางการพัฒนาทักษะขึ้นมาเป็น 3 รูปแบบคือ
- กลุ่มฝึกฝนทักษะการทอผ้า
- กลุ่มฝึกทักษะเขียนเทียนผ้าม้ง
- กลุ่มฝึกทักษะปักผ้าม้ง
และได้ทำการรับสมัครสมาชิกเข้ามาทั้งสิ้น 50 คน เพื่อทำการอบรมเป็นกลุ่มแรก
เมื่อโครงการได้ดำเนินไปแล้วระยะหนึ่ง เจ้าหน้าที่ก็ได้เห็นความก้าวหน้าด้านทักษะฝีมือของกลุ่มสมาชิกที่มีความชำนาญขึ้น เห็นความสำคัญในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของชุมชนร่วมกัน มีความภาคภูมิใจในผลงานของตัวเองมากขึ้น และหันมาสนใจเกี่ยวกับการค้าขายออนไลน์เพื่อสร้างรายได้มากขึ้นด้วย
หนึ่งในสมาชิกกลุ่มเขียนเทียนผ้าม้งได้เล่าถึงสิ่งที่เรียนรู้จากการฝึกอาชีพกับโครงการไว้ว่า “หลังจากที่ได้เข้ามาในโครงการ ก็ได้เห็นถึงกลไกลของการขยายกิจการหรือธุรกิจที่สร้างจากผลิตภัณฑ์ในชุมชนมากขึ้น ซึ่งสามารถช่วยให้คนในชุมชนมีรายได้เพิ่มมากขึ้นด้วย นอกจากนี้โครงการก็ได้สอนบางทักษะที่เราไม่รู้มากก่อนอย่างเช่นการออกแบบและแปรรูปผลิตภัณฑ์ในชุมชนให้เป็นที่สนใจของคนอื่นๆ ในสังคม”
“กิจกรรมที่ประทับใจมากที่สุดจึงเป็นทักษะที่เจาะลึกด้านการแปรรูปผลิตภัณฑ์ให้เป็นที่ต้องการของคนภายนอก เราเลยรู้สึกว่าโครงการนี้เป็นโคโครงการนี้เป็นโครงการที่เปิดช่องทางให้เราต่อยอดสินค้าจากชุมชนตัวเอง และพามันออกไปได้ไกลมากขึ้น รวมถึงทำให้คนในชุมชนเริ่มหันมาทำงานร่วมกัน สร้างความสามัคคีในกลุ่มกันมากขึ้นด้วย”
หลังจากที่โครงการได้เข้ามาช่วยเหลือด้านการฝึกฝนทักษะความสามารถ กลุ่มสมาชิกจากทั้ง 3 ชุมชนก็เริ่มมีความเข้มแข็งและเป็นปึกแผ่นกันมากขึ้น เป้าหมายต่อไปของโครงการจึงเป็นการรวมกลุ่มเครือข่ายผลิตภัณฑ์ผ้าในอำเภอภูซาง เพื่อยกระดับโครงการให้มีเครือข่ายที่กว้างขวางและช่วยกันเอื้อประโยชน์ให้งานผ้าจากภูซางมีชื่อเสียงและเป็นที่ต้องการของตลาดมากยิ่งขึ้น รวมถึงขีดความสามารถในการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านวัฒนธรรมนี้ให้กับคนรุ่นใหม่ เพื่อสืบทอดและสืบสานผ้าทอจากภูซางต่อไป
เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น
พัฒนาอาชีพการผลิตผ้าของสตรีภูซาง จังหวัดพะเยา
ชื่อหน่วยงาน
จังหวัด
ปีโครงการ
ติดต่อ
เป้าประสงค์โครงการ
สร้างโอกาสที่เสมอภาคของแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสให้ได้รับการพัฒนายกระดับฝีมือแรงงานที่มีคุณภาพ และสามารถฝึกฝนให้กลุ่มเป้าหมายมีทักษะในการที่จะนำไปประกอบอาชีพเลี้ยงตนเองและครอบครัว