ยกระดับมาตราฐานการท่องเที่ยวชุมชน ที่ช่วยสะท้อนอัตลักษณ์ชุมชน ชาวปกาเกอะญอบ้านแม่หาด-นามน

เชียงใหม่ การบริการและการท่องเที่ยว

หมู่บ้านแม่หาด-นามน อำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นหมู่บ้านที่ขึ้นชื่อเรื่องสถานที่ท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติที่สวยงาม ต้องตาต้องใจ ดึงดูดนักท่องเที่ยวที่นิยมท่องเที่ยวและศึกษาเชิงระบบนิเวศน์ เนื่องจากมีป่าไม้ที่อุดมสมบุณ์ เช่น น้ำตกแม่หาด น้ำตกเลวา(น้ำตกรักจังนามน) เก่อเหจ่อแท่ (แกรนด์แคนยอนนามน) จุดชมวิวทะเลหมอก ม่อนต่าแอะ(ดอยจูวา) 

ประกอบทั้งชาวบ้านในหมู่บ้านส่วนใหญ่ยังเป็นชนเผ่าพื้นเมืองอย่างชนเผ่าปกาเกอะญอที่มีการทอผ้ากะเหรี่ยง เป็นวิถีชีวิตที่สืบทอดกันมาแต่บรรพบุรุษ มีการอนุรักษ์และสืบทอดกันมาอย่างยาวนาน ส่งผลให้ชาวบ้านในชุมชนนิยมประกอบอาชีพที่เกี่ยวข้องกับด้านการท่องเที่ยวและเกษตรกรรมเป็นหลัก เช่น การทำโฮมสเตย์ การท่องเที่ยวในลักษณะมักคุเทศก์เพื่อเรียนรู้วิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชนเผ่าปกาเกอะญอ ตลอดจนการขายสินค้าโดยใช้ทุนของชุมชนเป็นรากฐานทั้งเชิงวัฒนธรรมและเกษตรกรรม 

อย่างไรก็ดี แม้ต้นทุนเดิมของชุมชนจะเข้มแข็งอยู่แล้ว แต่ชุมชนยังจำเป็นที่จะต้องเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวให้ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์จักสานและผ้าทอกระเหรี่ยงของฝากขึ้นชื่อของหมู่บ้าน รวมไปถึงรูปแบบระบบการจัดการโฮมสเตย์ห้องพัก ตลอดจนการตลาดต่างๆ บนช่องทางโซเชียลมีเดีย 

ในการนี้เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้การพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อรองรับการท่องเที่ยวและส่งเสริมการจัดการตลาด ให้เป็นหมู่บ้านเพื่อการท่องเที่ยวอย่างสมบูรณ์ พร้อมนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้อย่างเหมาะสมและก่อเกิดประโยชน์สูงสุด ทางการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) อำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่ จึงได้จัดโครงการ ‘พัฒนาการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมวิถีชุมชนปกาเกอะญอบ้านแม่หาด-นามน’ โดยมีผู้เข้าร่วมทั้งหมด 76 คน และแบ่งเป้าหมายออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ ดังนี้ 

  1. กลุ่มทอผ้า เพื่อสร้างอาชีพทอผ้าให้กลุ่มสตรีแม่บ้านที่เป็นสมาชิกกลุ่มทอผ้ากะเหรี่ยง เพิ่มช่องทางการตลาดเพื่อจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของกลุ่ม พัฒนาและออกแบบผลิตภัณฑ์ มีทักษะในการย้อมสีจากธรรมชาติก่อนที่จะนำไปทอผ้าให้ผลิตภัณฑ์เป็นที่ต้องการของตลาด ออกแบบบรรจุภัณฑ์เพื่อสามารถเป็นของฝากของที่ระลึกแก่นักท่องเที่ยวได้ เพื่อเป็นการสร้างรายได้เสริมให้กลุ่มแม่บ้านเพิ่มขึ้น 
  2. กลุ่มจักสาน พัฒนาให้กลุ่มจักสารผู้สูงอายุให้มีตลาดในการจำหน่ายสินค้า มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์สามารถขายเป็นของฝาก ของที่ระลึกให้กับนักท่องเที่ยวได้ เพื่อให้ผู้สูงอายุมีกิจกรรมทางสังคม ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ มีรายได้เสริมให้กับครอบครัว
  3. โฮมสเตย์ พัฒนาให้โฮมสเตย์ในหมู่บ้านพร้อมบริการ รวมถึงจัดให้มีมัคคุเทศก์ในการนำเที่ยวสถานที่ท่องเที่ยวในหมู่บ้านระหว่างบ้านนามนและบ้านแม่หาด มีอาหารและเครื่องดื่มที่สามารถบริการให้กับนักท่องเที่ยวได้ และการจัดทำของที่ระลึกจำหน่าย เช่น ภาพถ่าย โปสการ์ด พวงกุญแจ ต่างๆ เป็นต้น มีการจัดทำเว็บไซต์เพื่อโปรโมท กิจกรรม วัฒนธรรมประเพณีที่น่าสนใจต่างๆ ของชุมชน มีการนำกลุ่มสมาชิกไปศึกษาดูงานหมู่บ้านท่องเที่ยวที่ประสบผลสำเร็จ เพื่อการบริหารจัดการกลุ่มที่ยั่งยืนต่อไป

จากกระบวนการข้างต้น โดยหากทางหน่วยพัฒนาอาชีพดำเนินจนสิ้นสุดโครงการนั้น การผลักดันหมู่บ้านเพื่อการท่องเที่ยวครั้งนี้จะเป็นการนำนวัตกรรมด้านการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์วิถีของชนเผ่าปกาเกอะญอ เสริมสร้างทักษะในการพัฒนาอาชีพดั้งเดิมผ่านการนำต้นทุนทางชุมนุมซึ่งเป็นรากฐานสำคัญมาก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ชาวบ้านทุกคนสามารถมีงาน ประกอบอาชีพภายในบ้านเกิดตัวเองได้อย่างผาสุข และกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ที่ใครๆ ก็อยากจะลองแวะไปเที่ยวสักครั้งอย่างแน่นอน

ชุมชนยังจำเป็นที่จะต้องเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวให้ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์จักสานและผ้าทอกระเหรี่ยงของฝากขึ้นชื่อของหมู่บ้าน

เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น

พัฒนาการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมวิถีชุมชนปกาเกอะญอบ้านแม่หาด-นามน

ชื่อหน่วยงาน

การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่

จังหวัด

เชียงใหม่

ปีโครงการ

2563

ติดต่อ

ผู้ประสานงาน: นางพิมพ์ใจ โนจ๊ะ
โทร: 0933904455

เป้าประสงค์โครงการ

  1. เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้การพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อรองรับการท่องเที่ยว
  2. เพื่อส่งเสริมการจัดการตลาดเพื่อการท่องเที่ยว

เรื่องราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

กว่า 74 หน่วยงาน 42 จังหวัด กับ 1 เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มีศักยภาพ ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพแก่แรงงานด้อยโอกาส