ศูนย์วิจัยทรัพยากรป่าชายเลน จังหวัดพังงา ผลักดันผลิตภัณฑ์จากไม้โพทะเล เพื่อสร้างเอกลักษณ์ให้กับสินค้าประจำชุมชนบ้านสามช่องเหนือ จังหวัดพังงา สู่การประกอบอาชีพอย่างยั่งยืน

พังงา งานหัตถกรรมและฝีมือ

ป่าชายเลนนับเป็นระบบนิเวศที่มีคุณค่ามหาศาล มีความสำคัญและประโยชน์ไม่แพ้ป่าไม้บนบก เนื่องจากเป็นแหล่งอาศัยของพันธุ์ไม้ สัตว์น้ำ และสัตว์บกนานาชนิด ทั้งยังมีประโยชน์ต่อชุมชนชายฝั่งอย่างกว้างขวาง ในฐานะแหล่งถิ่นอาศัยของประชากรชาวไทยกลุ่มหนึ่ง พวกเขาต่างพึ่งพิงทรัพยากรในป่าชายเลนเพื่อดำรงชีพในชีวิตประจำวัน ตลอดจนการประกอบอาชีพ ไปจนถึงการหารายได้จากการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ซึ่งใช้ป่าชายเลนเป็นแหล่งเรียนรู้

ชุมชนบ้านสามช่องเหนือ จังหวัดพังงา คือหนึ่งในชุมชนชายฝั่งที่ใช้ประโยชน์จากป่าชายเลน โดยชุมชนดังกล่าวตั้งอยู่บริเวณอ่าวพังงา จังหวัดพังงา มีทรัพยากรป่าชายเลนที่อุดมสมบูรณ์ นิยมยึดอาชีพหลักคือการทำประมง การทำเกษตรกรรม และการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ เป็นต้น ซึ่งมีรายได้เพียงพอให้จุนเจือในครอบครัวได้ในระดับพอเลี้ยงชีพ 

ทว่า เมื่อเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ขึ้น เหตุการณ์ก็เลวร้ายลง นโยบายล็อกดาวน์ของรัฐบาล ส่งผลให้การท่องเที่ยวของที่แห่งนี้ซบเซาลง จากที่เคยมีรายได้ในระดับพอเลี้ยงชีพ ก็เป็นรายได้ไม่เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพอีกต่อไป อย่างไรก็ตาม ในความโชคร้ายก็ยังมีความโชคดี ชุมชนบ้านสามช่องเหนือเป็นชุมชนที่มีการรวมกลุ่มเพื่อทำกิจกรรมร่วมกันอย่างใกล้ชิด และมีการจัดตั้งวิสาหกิจชุมชน เพื่อให้ประชากรในชุมชนได้ร่วมกันทำงาน และแบ่งปันผลประโยชน์ร่วมกัน

จากที่กล่าวมา ศูนย์วิจัยทรัพยากรป่าชายเลนที่ 4 จังหวัดพังงา เล็งเห็นถึงความเข้มแข็งของชุมชนในด้านนี้ จึงต้องการผลักดันให้ประชากรในชุมชนสามารถใช้ประโยชน์จากฐานทรัพยากรที่มีอยู่ และใช้ผลผลิตส่วนเกินจากป่าชายเลนมาสร้างอาชีพด้วยการพัฒนาสินค้าที่เป็นเอกลักษณ์ประจำถิ่น ประกอบกับการสร้างจิตสำนึกให้ชุมชนรักและหวงแหนทรัพยากรในท้องถิ่นของตนเอง

เกิดเป็น “โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ไม้โพทะเลจากเอกลักษณ์ท้องถิ่นของชุมชนบ้านสามช่องเหนือ” โดยมุ่งเป้าไปที่การส่งเสริมให้กลุ่มเป้าหมายเรียนรู้ทักษะการพัฒนาและทำผลิตภัณฑ์จากไม้โพทะเล เนื่องจากต้นโพทะเลสามารถนำไปทำเป็นของที่ระลึกได้หลากหลาย ตั้งแต่ชิ้นเล็กๆ ที่มีมูลค่าต่ำ ไปจนถึงชิ้นใหญ่ ๆ ที่มีมูลค่าสูง ประกอบกับต้นโพทะเลเป็นพันธุ์ไม้ที่สามารถปลูกทดแทนได้ในระยะเวลาอันสั้น ทำให้การตัดมาทำเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรในท้องถิ่น โดยมีกลุ่มเป้าหมายจำนวน 50 คน ซึ่งเป็นกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้ว่างงาน และเยาวชนที่สนใจ โดยโครงการฯ ได้มีการดำเนินงานร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น โรงเรียน มหาวิทยาลัย และชุมชนท้องถิ่น อย่างต่อเนื่อง

นอกจากนั้นแล้ว คณะทำงานยังได้สอดแทรกหลักสูตรการเป็นผู้ประกอบการในศตวรรษที่ 21 เพิ่มลงไป เพราะหากไม่สามารถจำหน่ายโดยตรงในท้องถิ่นได้ ก็จำเป็นที่จะต้องเสริมสร้างองค์ความรู้ให้กลุ่มเป้าหมายรู้เท่าทันการใช้เทคโนโลยีและการสื่อสาร ผ่านการจำหน่ายสินค้าออนไลน์บนเว็บไซต์ของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง 

โดยนอกจากจะช่วยในเรื่องของช่องทางการตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว การใช้เทคโนโลยียังสามารถต่อยอดไปสู่ขั้นตอนในการติดตาม การประเมินผล และการให้คำแนะนำ ระหว่างคณะทำงานกับกลุ่มเป้าหมายสะดวกและรวดเร็วขึ้นอีกด้วย เช่น การตั้งกลุ่มในแอปพลิเคชันไลน์ สำหรับการถาม-ตอบ หรืออัปเดตกิจกรรมต่างๆ 

ซึ่งหากโครงการดังกล่าว ประสบความสำเร็จอย่างแท้จริง กล่าวคือ ชาวบ้านในพื้นที่ป่าชายเลน สามารถพัฒนาทักษะ จนต่อยอดเป็นผู้ประกอบการทั้งในช่องทางร้านค้าทั่วไปและบนโลกอินเตอร์เน็ตได้สำเร็จ พวกเขาก็ไม่จำเป็นต้องหวาดกลัวต่ออุปสรรคใดๆ อีกต่อไป เมื่อพวกเขามีทักษะในการประกอบอาชีพอย่างยั่งยืนตามหลักสูตรจากโครงการฯ เป็นที่เรียบร้อย 

 

ศูนย์วิจัยทรัพยากรป่าชายเลนที่ 4 จังหวัดพังงา เล็งเห็นถึงความเข้มแข็งของชุมชน จึงต้องการผลักดันให้ประชากรในชุมชนสามารถใช้ประโยชน์จากฐานทรัพยากรที่มีอยู่ และใช้ผลผลิตส่วนเกินจากป่าชายเลนมาสร้างอาชีพด้วยการพัฒนาสินค้าที่เป็นเอกลักษณ์ประจำถิ่น ประกอบกับการสร้างจิตสำนึกให้ชุมชนรักและหวงแหนทรัพยากรในท้องถิ่นของตนเอง

เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น

พัฒนาผลิตภัณฑ์ไม้โพทะเลจากเอกลักษณ์ท้องถิ่นของชุมชนบ้านสามช่องเหนือ

ชื่อหน่วยงาน

ศูนย์วิจัยทรัพยากรป่าชายเลนที่ 4 จังหวัดพังงา

จังหวัด

พังงา

ปีโครงการ

2563

ติดต่อ

ผู้ประสานงาน: นายสุชาติ แย้มปราสัย
โทร: 081-299-2566

เป้าประสงค์โครงการ

  1. ศึกษาฐานทรัพยากรท้องถิ่นและการออกแบบสร้างสรรค์เอกลักษณ์ของผลิตภัณฑ์โดยใช้ภูมิปัญญาของชุมชน
  2. กลุ่มเป้าหมายได้รับการฝึกทักษะ เทคนิค กระบวนการ และขั้นตอนการทำผลิตภัณฑ์จากไม้โพทะเล
  3. กลุ่มเป้าหมายได้ฝึกปฏิบัติการทำผลิตภัณฑ์จากไม้โพทะเล
  4. มีตลาดและช่องทางจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย 

เรื่องราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

กว่า 74 หน่วยงาน 42 จังหวัด กับ 1 เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มีศักยภาพ ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพแก่แรงงานด้อยโอกาส