จับการแต่งกายแบบ ‘บาบ๋า’ ที่เป็นอัตลักษณ์เชิงวัฒนธรรมของระนอง มาสร้างเป็นกลุ่มผลิตภัณฑ์จากผ้าปาเต๊ะ ส่งเสริมการท่องเที่ยวและสร้างรายได้ให้กับชุมชน

ระนอง งานหัตถกรรมและฝีมือ

การท่องเที่ยวยุคใหม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากอดีตหลายประการ เพราะเดี๋ยวนี้นักท่องเที่ยวไม่ได้ต้องการแพคเกจดำน้ำดูประการังที่แถมการเข้าพักในโรงแรม 5 ดาว อีกต่อไปแล้ว ผู้คนที่เดินทางในยุคสมัยนี้มีความต้องการหลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะเทรนด์ที่กำลังได้รับความนิยมคือการท่องเที่ยวเชิงชุมชนที่ให้ความสำคัญกับวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม

จังหวัดระนองคือหนึ่งในจังหวัดทางใต้ของไทยที่มีนักท่องเที่ยวเดินทางไปอย่างไม่ขาดสาย แม้จะไม่ใช่จำนวนที่มากเมื่อเทียบกับจังหวัดทางใต้อื่นๆ แต่ระนองก็มีเสน่ห์ในแบบที่หาไม่ได้จากที่ไหนเช่นกัน เพราะจังหวัดแห่งนี้เป็นจังหวัดที่มีการผสมผสานของวัฒนธรรมอันหลากหลาย มีประวัติศาสตร์ที่เก่าแก่และสืบทอดกันมาผ่านวิถีชีวิตของผู้คน ไม่ว่าจะเป็นประเพณีความเชื่อ อาหารพื้นเมือง และการแต่งกายที่มีอัตลักษณ์

ด้วยต้นทุนที่มีศักยภาพหลายด้านของจังหวัดระนอง ทำให้วิทยาลัยชุมชนระนองซึ่งเป็นแหล่งเรียนรู้และพัฒนาอาชีพของชุมชนได้เลือกเอาเรื่องที่เป็นจุดเด่นอย่าง ‘การแต่งกายแบบบาบ๋า’ มาจัดทำเป็นโครงการที่ช่วยผลักดันการท่องเที่ยวและสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนผ่านโครงการ ‘สร้างผลิตภัณฑ์จากผ้าปาเต๊ะ’

กลุ่มเป้าหมายของโครงการนี้คือกลุุ่มคนด้อยโอกาส เช่น แรงงานนอกระบบ ผู้ถือบัตรสวัสดิการฯ ผู้ว่างงาน และผู้สูงอายุ โดยวิทยาลัยชุมชนจะทำการเลือกคนจากพื้นที่ 7 ตำบลในอำเภอระนอง ได้แก่ ตำบลทรายแดง ตำบลบางนอน ตำบลบางริ้น ตำบลปากน้ำ ตำบลหงาว ตำบลหาดส้มแป้น และตำบลเขานิเวศน์ จำนวนทั้งสิ้น 50 คน

แผนการพัฒนาทักษะให้กับคนในโครงการจะประกอบไปด้วยการฝึกฝนอบรมทักษะที่เกี่ยวข้องกับการสร้างผลิตภัณฑ์จากผ้า เช่น การออกแบบผลิตภัณฑ์จากผ้าปาเต๊ะ  ผสมผสานกับวัสดุอื่นๆ  โดยโครงการจะมุ่งเน้นไปที่การฝึกฝนให้กลุ่มเป้าหมายสามารถต่อยอดผ้าปาเต๊ะให้มีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง เช่น การเพ้นท์ลงบนผ้า การตัดเย็บออกมาในรูปแบบที่หลากหลายเป็นผลิตภัณฑ์ ต่างๆ

หลังจากจบการฝึกฝนด้านทักษะเกี่ยวกับผ้าแล้ว โครงการจะมีการอบรมด้านการตลาดเพิ่มเติมให้ด้วย เช่น การวางแผนต้นทุนการผลิต การคิดค่าแรง การทำโฆษณาบนออนไลน์ และการจัดจำหน่ายให้กับเครือข่ายชมุชน การจัดทำแผนการพัฒนาทักษะของวิทยาลัยชุมชนฯ นี้ นับว่าเป็นแผนที่ ‘ครบวงจร’ ที่สุดแผนหนึ่ง ซึ่งทำให้ผู้สำเร็จจากโครงการไปแล้วสามารถนำเอาทักษะเหล่านี้ไปประกอบอาชีพและต่อยอดเพื่อสร้างรายได้ให้กับตัวเองและครอบครัวอย่างมั่นคง

การสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนเป็นหนึ่งในวิธีการส่งเสริมการท่องเที่ยวที่ดีที่สุด เพราะนักท่องเที่ยวในยุคใหม่หลายคนมีต้องการที่จะได้เข้ามาเรียนรู้แลกเปลี่ยนความแตกต่าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของวัฒนธรรม อาหาร และการแต่งกาย ซึ่งหากชุมชนมีความเข้มแข็งในด้านต่างๆ เหล่านี้แล้ว ก็ย่อมจะทำให้เป็นที่ประทับใจของคนที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวเรียนรู้

เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น

การสร้างผลิตภัณฑ์จากผ้าปาเต๊ะ

ชื่อหน่วยงาน

วิทยาลัยชุมชนระนอง

จังหวัด

ระนอง

ปีโครงการ

2562

ติดต่อ

ผู้ประสานงาน: นางสาวสุข์พิณ์ฌา ไสยวงศ์
โทร: 094-3236549

เป้าประสงค์โครงการ

  1. ผู้เข้าร่วมโครงการมีความรู้ และทักษะสำหรับการสร้างผลิตภัณฑ์จากผ้าปาเต๊ะ
  2. ผู้เข้าร่วมโครงการมีศักยภาพในการประกอบอาชีพและสร้างรายได้จากผลิตภัณฑ์ผ้าปาเต๊ะ

เรื่องราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

กว่า 74 หน่วยงาน 42 จังหวัด กับ 1 เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มีศักยภาพ ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพแก่แรงงานด้อยโอกาส