วิทยาลัยชุมชนแพร่นำหลักสูตรการย้อมเสื้อหม้อห้อมแบบดั้งเดิมด้วยสีธรรมชาติกลับมาสอน ช่วยสร้างทักษะ สร้างอาชีพให้กับคนด้อยโอกาสใน 3 ชุมชนของตัวจังหวัด

แพร่ งานหัตถกรรมและฝีมือ

การย้อมผ้าเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดแพร่ ดังคำขวัญของจังหวัดที่กล่าวไว้ว่า “หม้อห้อมไม้สัก ถิ่นรักพระลอ ช่อแฮศรีเมือง ลือเลื่องแพะเมืองผี คนแพร่นี้ใจงาม” อย่างไรก็ดี ผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นอย่างผ้าหม้อห้อม ในปัจจุบันกลับมีการนำกลวิธีการย้อมผ้าด้วยสารเคมีมาใช้เป็นจำนวนมาก เนื่องด้วยสะดวกรวดเร็วและสามารถขายในราคาที่ถูกกว่า ทำให้ภูมิปัญญาการย้อมสีผ้าหม้อห้อมด้วยสีธรรมชาติค่อยๆ เลือนหายไป 

หน่วยพัฒนาอาชีพจากวิทยาลัยชุมชนแพร่ จังหวัดแพร่ จึงได้จัดโครงการพัฒนาทักษะอาชีพทุนวัฒนธรรมการผลิตผ้าหม้อห้อมของจังหวัดแพร่ขึ้นมา เพื่อสืบสานอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมให้คนในชุมชนยังสามารถใช้วิธีการย้อมสีธรรมชาติได้เช่นเดิม และเพิ่มช่องทางการตลาดให้ชุมชนสามารถสร้างรายได้และประกอบอาชีพได้อย่างเข้มแข็ง โดยที่ไม่ต้องย้ายถิ่นฐาน

โดยโครงการฯ ได้เฟ้นหากลุ่มเป้าหมายเพื่อเข้าร่วมกับโครงการได้ทั้งสิ้น 75 คน ประกอบไปด้วย ผู้ว่างงาน ผู้สูงอายุ ผู้พิการ และผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งกลุ่มเป้าหมายทั้งหมดอาศัยอยู่ใน 3 หมู่บ้านในจังหวัดแพร่ที่มีปัญหาและความต่างการที่แตกต่างกัน ส่งผลให้หน่วยพัฒนาอาชีพวิทยาลัยชุมชนแพร่ จำเป็นต้องออกแบบเนื้อหาหลักสูตรให้กับกลุ่มเป้าหมายดังนี้

1.ส่งเสริมอาชีพการปลูกต้นห้อมเพื่อการค้า: ชุมชนบ้านนาคูหา อำเภอเมืองแพร่ จังหวัดแพร่ ชุมชนบ้านนาคูหา เป็นชุมชนที่มีพื้นที่ในการปลูกห้อมบางแล้ว แต่ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการลักษณะพื้นที่ของชุมชนเป็นชุมชนที่ในเขาและเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ มีการปลูกกาแฟ และข้าว ทางโครงการจึงได้ส่งเสริมให้เกษตรในพื้นที่ปลูกห้อมมาก เสริมกับพืชในพื้นที่ให้มากยิ่งขึ้น

2ส่งเสริมอาชีพพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าหม้อห้อม: ชุมชนบ้านทุ่งโฮ้ง อำเภอเมืองแพร่ จังหวัดแพร่ ชุมชนทุ่งโฮ้งเป็นชุมชนในการทำผ้าหม้อห้อมแห่งใหญ่ของจังหวัดแพร่ แต่คนในพื้นที่ไปหางานทำอย่างอื่น ไม่ได้สืบสานอาชีพการทำผ้าหม้อห้อม ทางโครงการฯ จึงมุ่งเน้นให้กลุ่มผู้ว่างงานและเยาวชนที่ยังไม่มีทักษะใดเชี่ยวชาญเข้ารับการพัฒนาทักษะอาชีพผลิตภัณฑ์ผ้าหม้อห้อม พร้อมส่งเสริมให้มีตลาดร้านค้าผ้าหม้อในชุมชนรองรับ เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายสามารถพัฒนาทักษะในการแปรรูปผลิตภัณฑ์ผ้าหม้อให้ร้านจำหน่ายและกลับไปทำงานที่บ้านได้อย่างยั่งยืน

3.การแปรรูปผลิตภัณฑ์ผ้าหม้อห้อม: ชุมชนวัดศรีดอนชัย อำเภอลอง จังหวัดแพร่ เป็นกลุ่มทอผ้าพื้นเมือง ที่ดำเนินการจัดกิจกรรมทอผ้าด้วยกระบวนการภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยมีพระภิกษุสงฆ์เป็นแกนนำในการใช้สีธรรมชาติ อย่างไรก็ดี ชุมชนยังคงขาดความรู้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อการจำหน่ายเพื่อสร้างรายได้ เนื่องจากชาวบ้านส่วนใหญ่นิยมทอผ้าเพื่อใช้ในกิจกรรมภายในชุมชนและกิจกรรมทางศาสนาเท่านั้น ทั้งผู้มีความรู้ยังเป็นกลุ่มผู้สูงอายุเป็นหลัก ทางหน่วยพัฒนาฯ จึงเน้นให้ความรู้ด้านการแปรรูปผลิตภัณฑ์ เพื่อให้กลุ่มผู้สูงอายุสามารถหารายได้ และสามารถเลี้ยงตนเองได้ 

จากหลักสูตรที่โครงการได้จัดอบรมให้กลุ่มเป้าหมายพบว่า องค์ความรู้ตลอดหลักสูตรนั้นเป็นไปในลักษณะเพิ่มพูนทักษะและต่อยอด ตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ กล่าวคือ การปลูกห้อมและผลิตห้อมเปียก (ต้นน้ำ) การย้อมผ้าและสร้างลวดล้ายผ้าหม้อห้อม (กลางน้ำ) และการแปรรูปผลิตภัณฑ์ผ้าหม้อห้อม (ปลายน้ำ) ซึ่งทั้ง 3 หลักสูตรดังกล่าวนั้น ทางหน่วยพัฒนาฯ จะนำไปขยายผลในชุมชนต่างๆ เช่น วิทยาลัยชุมชนที่มีงานวิจัยที่เกี่ยวกับเครื่องตีห้อม หรือกับบุคลากรที่มีทักษะทางด้านการวิจัยชุมชนที่จะส่งเสริมการทำงานร่วมกับชุมชน เพื่อสืบสานการอนุรักษ์ผ้าหม้อห้อมเมืองแพร่ต่อไป

เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น

พัฒนาทักษะอาชีพทุนวัฒนธรรมการผลิตผ้าหม้อห้อมของจังหวัดแพร่

ชื่อหน่วยงาน

วิทยาลัยชุมชนแพร่

จังหวัด

แพร่

ปีโครงการ

2562

ติดต่อ

ผู้ประสานงาน: นายมนัส จันทร์พวง
โทร: 086-6335283

เป้าประสงค์โครงการ

สร้างโอกาสที่เสมอภาคของแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสให้ได้รับการพัฒนายกระดับฝีมือแรงงานที่มีคุณภาพ

  1. พัฒนาทักษะอาชีพเกษตรกรให้มาปลูกห้อมเพื่อการค้า การผลิตเนื้อห้อมในระดับอุตสาหกรรมขนาดเล็กได้ในเบื้องต้น โครงการนี้จึงเป็นการแก้ปัญหาให้กับผู้ปลูกและผู้ผลิตน้ำห้อมเปียกในจังหวัดแพร่ ให้สามารถรองรับการปลูกในพื้นที่ขนาดใหญ่ขึ้น และยกระดับการผลิตต่อเนื่องเป็นอาชีพรองของคนในชุมชนได้ต่อไป
  2. พัฒนาทักษะอาชีพผู้ออกแบบผลิตภัณฑ์การสร้างมูลค่าเพิ่มด้านการออกแบบ การลวดลายการย้อมผ้าหม้อห้อม
  3. พัฒนาทักษะอาชีพการแปรรูปผลิตภัณฑ์ผ้าหม้อห้อม ในรูปแบบต่าง ๆ เช่น เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย กระเป๋า ผ้าพันคอ สิ่งทอเคหะภัณฑ์

เรื่องราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

กว่า 74 หน่วยงาน 42 จังหวัด กับ 1 เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มีศักยภาพ ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพแก่แรงงานด้อยโอกาส