มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ จับเอาภูมิปัญญาการทอผ้าไหมสุรินทร์มาต่อยอดเป็นหลักสูตรสร้างอาชีพให้กับคนด้อยโอกาสในชุมชน

สุรินทร์ งานหัตถกรรมและฝีมือ

ผ้าไหมสุรินทร์ เป็นผ้าไหมที่มีเอกลักษณ์และลวดลายเฉพาะตัว ที่ได้รับอิทธิพลมาจากวัฒนธรรมกัมพูชา โดยลายต่างๆ ที่สืบทอดต่อกันมานั้นจะมีความหมายหรือสัญลักษณ์ซ่อนอยู่อันเป็นมงคลอยู่เสมอ ผ้าไหมสุรินทร์นิยมใช้ “ไหมน้อย” คือไหมที่มีลักษณะเส้นไหมขนาดเล็ก ซึ่งทำมาจากรังไหมชั้นในที่มีคุณภาพและความสม่ำเสมอของเส้นไหมดีกว่าชั้นนอก ทำให้ผ้าที่ทอจากไหมน้อยนี้มีความแน่น ละเอียด และนุ่มนวล

ภูมิปัญญาและความสามารถของเหล่ามือทอผ้าไหมของจังหวัดสุรินทร์ถือว่าไม่เป็นสองรองใครซึ่งนับว่าเป็นต้นทุน ของชุมชนที่สามารถนำไปต่อยอดให้เกิดการพัฒนา และเปลี่ยนเป็นรายได้กลับมาสู่มือของแรงงาน คณะเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ ได้มองเห็นโอกาสในจุดนี้ จึงได้จัดทำโครงการ “ฝึกอบรมพัฒนาทักษะแรงงาน เพื่อเพิ่มโอกาสในอาชีพด้านการผลิตผ้าไหม” ขึ้นเพื่อส่งเสริมให้งานหัตกรรมชนิดนี้ มีจำนวนแรงงานผู้ผลิตเพิ่มมากขึ้น  รวมไปถึงเป้าหมายในการยกระดับคุณภาพของงานผ้าไหมในชุมชนให้ได้มาตรฐานสากลด้วย

กลุ่มเป้าหมายที่โครงการกำหนดไว้คือ กลุ่มผู้ด้อยโอกาสในพื้นที่ ซึ่งประกอบไปด้วย แรงงานนอกระบบ ผู้ถือบัตรสวัสดิการฯ และผู้ว่างงาน ซึ่งทีมของผู้จัดโครงการใช้วิธีคัดเลือกแบบเฉพาะเจาะจง โดยจะเน้นเลือกคนที่สนใจและมีส่วนเกี่ยวข้องกับการผลิตผ้าไหม รวมทั้งสิ้น 80 คน

เมื่อเข้ามาแล้วสมาชิกในโครงการจะได้รับการพัฒนาทักษะตามแผนที่วางไว้ 3 รูปแบบคือ 1.การปลูกหม่อนเลี้ยงไหม 2.การทอผ้าและพัฒนาลวดลายผ้าไหม 3.การตลาดและการประชาสัมพันธ์ผ้าไหมและผลิตภัณฑ์จากไหม ซึ่งในแต่ละ

แผนการพัฒนาจะมีจำนวนชั่วโมงเรียนแตกต่างกันออกไปตั้งแต่ 120 ชั่วโมง ถึง 200 ชั่วโมงกันเลยทีเดียว เนื่องจากจะมีการสอน

ตั้งแต่ระดับพื้นฐานไปจนถึงระดับที่สามารถประยุกต์ใช้วิธีการใหม่ๆได้ ซึ่งต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์เข้ามามีส่วนร่วมด้วย

วิชาที่ผู้เข้าร่วมโครงการจะได้เรียนรู้มีตั้งแต่ การเลือกพันธุ์หม่อนที่เหมาะสมสำหรับพื้นที่ปลูก, การเลือกพันธุ์ไหม การดูแลรักษาคุณภาพของต้นหม่อนและเส้นไหม, วิธีมัดลายและการย้อมโดยใช้สีธรรมชาติ, การออกแบบลายผ้า, การทอผ้าไหม ไปจนถึงการตลาด, การบริหารจัดการ และการประชาสัมพันธ์ เป็นต้น

โครงการฝึกอบรมพัฒนาทักษะแรงงานเพื่อเพิ่มโอกาสในอาชีพด้านการผลิตผ้าไหมนี้ มีแบบพัฒนาทักษะที่เข้มข้น ดั่งจะเห็นได้จากวิชามากมายที่โครงการได้กำหนดไว้ แต่เหนือสิ่งอื่นใด เมื่อผู้เข้าร่วมโครงการได้ผ่านการฝึกอบรมไปแล้ว ก็จะต้องอาศัยการฝึกฝนและเรียนรู้จากประสบการณ์ตรงของผู้เรียนเองมาใช้ในการต่อยอดและพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างสม่ำเสมอ เพื่อจะได้มีเอกลักษณ์และตัวตนในตลาดของผ้าไหมไทยอย่างยั่งยืน

การดำเนินโครงการพัฒนาเช่นนี้นับว่าเป็นส่วนสำคัญในการช่วยพัฒนาทักษะของกลุ่มหัตถกรรมในพื้นที่อย่าง ก้าวกระโดด ซึ่งนอกจากจะช่วยให้สมาชิกทั้ง 80 คน ได้มีโอกาสพัฒนาตัวเองแล้วยังมีบทบาทในด้านการ อนุรักษ์งานศิลปะหัตถกรรม ท้องถิ่นของไทยให้มีลมหายใจสืบต่อไปอีกด้วย

เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น

การฝึกอบรมพัฒนาทักษะแรงงาน เพื่อเพิ่มโอกาสในอาชีพด้านการผลิตผ้าไหม

ชื่อหน่วยงาน

คณะเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์

จังหวัด

สุรินทร์

ปีโครงการ

2562

ติดต่อ

ผู้ประสานงาน: นางสุนิสา เยาวสกุลมาศ
โทร: 086-3407748

เป้าประสงค์โครงการ

การจัดการศึกษาเน้นการเรียนรู้เพื่อชีวิตที่เหมาะสมกับผู้ด้อยโอกาส โดยเน้นการบูรณาการทั้งด้านวิชาการความรู้ด้านการผลิตผ้าไหม ด้านศีลธรรม จริยธรรม และด้านการดำรงชีวิตที่เหมาะสม หลักสูตรที่ใช้ จะเน้นความหลากหลาย เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมและความจำเป็นสำรับผู้ด้อยโอกาสที่เน้นในเรื่องการดำรงชีพที่สามารถพึ่งตนเองได้เน้นการเรียนรู้ แบบประสบการณ์ตรงโดยมีแหล่งเรียนรู้ที่ใกล้ตัวปลูกฝังความเป็นผู้รักถิ่นฐานเดิม จากการประยุกต์ใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น สร้างโอกาสที่เสมอภาคของแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสให้ได้รับการพัฒนายกระดับฝีมือแรงงานที่มีคุณภาพ พร้อมทั้งเป็นต้นแบบของชุมชนต่อไป

เรื่องราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

กว่า 74 หน่วยงาน 42 จังหวัด กับ 1 เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มีศักยภาพ ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพแก่แรงงานด้อยโอกาส