มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ จับเอาภูมิปัญญาการทอผ้าไหมสุรินทร์มาต่อยอดเป็นหลักสูตรสร้างอาชีพให้กับคนด้อยโอกาสในชุมชน

สุรินทร์ งานหัตถกรรมและฝีมือ

ผ้าไหมคือผลิตภัณฑ์ที่มีความพิเศษอยู่เสมอ เพราะไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหนผ้าไหมที่ดีก็ยังคงซื้อง่ายขายคล่องและเป็นที่ต้องการของตลาดไม่เปลี่ยนแปลง ซึ่งหนึ่งในผ้าไหมที่ขึ้นชื่อของไทยคือผ้าไหมจากจังหวัดสุรินทร์ โครงการการฝึกอบรมพัฒนาทักษะแรงงานที่จัดขึ้นโดยมหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ จึงได้จับเอาต้นทุนอันนี้มาต่อยอดเป็นหลักสูตรที่ช่วยให้กลุ่มผู้ด้อยโอกาสในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ ได้มีโอกาสเข้ามาศึกษาเรียนรู้และพัฒนายกระดับฝีมือแรงงานให้มีคุณภาพ พร้อมทั้งเป็นต้นแบบของชุมชนอื่นๆ ต่อไป

กลุ่มเป้าหมายที่โครงการได้กำหนดไว้คือกลุ่มคนด้อยโอกาสและขาดแคลนทุนทรัพย์ โดยเฉพาะ ‘แรงงานนอกระบบ’ ที่ไม่มีสวัสดิการหรือความมั่นคงใดๆ รองรับ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วแรงงานนอกระบบเหล่านี้จะมีอาชีพหลักเป็นเกษตรกรและมีอาชีพเสริมเป็นการรับจ้างทั่วไป แต่ถึงอย่างนั้นรายได้ก็ยังมีไม่พอต่อค่าใช้จ่ายที่จำเป็นอยู่ดี โครงการของม.ราชภัฏสุรินทร์จึงได้เข้าไปสำรวจชุมชนและเปิดรับสมัครสมาชิกที่มีความต้องการประกอบอาชีพผู้ผลิตผ้าไหมเข้ามาฝึกฝนอบรมจำนวน 80 คน

ภายหลังจากที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ได้เข้าไปวิเคราะห์ทุนชุมชนแบบมีส่วนร่วม ก็ได้พบว่าผู้คนในชุมชนมีต้นทุนหลายประการ ไม่ว่าจะเป็น ทุนด้านมนุษย์ที่มีคุณสมบัติด้านภูมิปัญญาความรู้ ทุนทางสังคมที่ชุมชนมีความรักสามัคคีและยอมรับซึ่งกันและกัน ทุนทางธรรมชาติที่ช่วยเสริมศักยภาพในการดำรงชีวิตไม่ว่าจะเป็น ป่า แม่น้ำ ดิน และพืชพรรณ นอกจากนี้ชุมชนยังมีทัศนคติที่ก้าวหน้า คือมีความต้องการที่จะบริหารจัดการต้นทุนที่มีอยู่แล้วในชุมชนให้เกิดประโยชน์สูงสุดโดยคนในชุมชนด้วยกันเอง

มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์จึงได้วางระบบการพัฒนาทักษะอาชีพโดยเริ่มต้นตั้งแต่องค์ความรู้พื้นฐาน เช่น การปลูกหม่อนเลี้ยงไหม การย้อมสีเส้นไหมด้วยสีธรรมชาติ การทอผ้าไหม และการพัฒนาลวดลายผ้าไหม จนครอบคลุมไปถึงทักษะการตลาดที่เป็นส่วนของการจัดจำหน่ายด้วย

นับตั้งแต่วันแรกที่ดำเนินงานมาจนถึงวันนี้ โครงการได้รับความร่วมมือจากบุคคลากรหลายฝ่ายเป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นจากผู้นำชุมชนที่คอยช่วยเหลือติดต่อประสานงานในการเข้าขอใช้พื้นที่และการติดต่อประสานงานกลับผู้เข้าร่วมอบรม ตลอดจนอำนวยความสะดวกในด้านต่างๆ ในระหว่างการฝึกอบรม รวมถึงกลุ่มสมาชิกเองก็ให้ความร่วมมือในการเข้าร่วมอบรมเป็นจำนวนมาก และคนในครอบครัวของผู้เข้าร่วมอบรมยังมีส่วนช่วยและเสริมประสิทธิภาพในการอบรมมากขึ้น โดยการจัดหาวัตถุดิบที่จำเป็นในการฝึกฝนมาสนับสนุนด้วย

จากความร่วมมือเหล่านี้ทำให้กลุ่มเป้าหมายมีความก้าวหน้าทั้งด้านทักษะการผลิตผ้าไหมและทักษะการตลาดเพิ่มขึ้น ซึ่งหนึ่งในสมาชิกของโครงการได้กล่าวสรุปความก้าวหน้าของพี่น้องในชุมชนไว้ว่า 

“หลังเข้าร่วมโครงการเราได้เรียนรู้และมีทักษะในการคิดค้นลายผ้า การย้อมสีธรรมชาติ ตลอดจนช่องทางการตลาดที่ไม่ต้องขายผ่านพ่อค้าคนกลาง รวมถึงมีการจัดตั้งกลุ่มกันขึ้นมา มีการถ่ายทอดภูมิปัญญาจากคนพ่อแม่สู่ลูกหลาน ขณะเดียวกันทางกลุ่มมีการผลักดันคนรุ่นใหม่ที่มีหัวคิดทันสมัยให้มาช่วยประสานงานกับหน่วยงานอื่นๆ ทำให้มีเยาวชนเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการผลิตผ้าไหมมากขึ้น และไม่ต้องออกไปทำงานข้างนอกชุมชน

นอกจากความก้าวหน้าทางทักษะและอาชีพของตัวกลุ่มเป้าหมายแล้ว โครงการก็ได้ยกระดับสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เพื่อให้มีการทำงานอย่างเป็นระบบมากขึ้น โดยเจ้าหน้าที่ของโครงการเล่าให้ฟังถึงความคืบหน้าล่าสุดว่า 

“โครงการของเราได้มีการสร้างโรงทอผ้า โรงย้อม และสถานที่สำหรับทำกิจกรรมต่างๆ ในกระบวนการผลิตผ้าไหม ตลอดจนมีอุปกรณ์และเครื่องมือที่อำนวยความสะดวก ทำให้คนในกลุ่มสามารถผลิตผ้าไหมได้รวดเร็วมากขึ้น โดยในอนาคตโครงการมีแผนพัฒนาทักษะการเพิ่มมูลค่าของ ‘ผลพลอยได้’ ที่เกิดจากกระบวนการผลิตผ้าไหม เพื่อจะได้เป็นการใช้วัตถุดิบในกระบวนการผลิตผ้าไหมให้เกิดประโยชน์สูงสุด และยังสามารถเพิ่มรายได้ให้กับสมาชิกกลุ่มได้อีกทางด้วย” เจ้าหน้าที่โครงการทิ้งท้ายไว้ด้วยวิสัยทัศน์ลำดับต่อไปของการยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงานในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์

 

เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น

การฝึกอบรมพัฒนาทักษะแรงงาน เพื่อเพิ่มโอกาสในอาชีพด้านการผลิตผ้าไหม

ชื่อหน่วยงาน

คณะเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์

จังหวัด

สุรินทร์

ปีโครงการ

2562

ติดต่อ

ผู้ประสานงาน: นางสุนิสา เยาวสกุลมาศ
โทร: 086-3407748

เป้าประสงค์โครงการ

การจัดการศึกษาเน้นการเรียนรู้เพื่อชีวิตที่เหมาะสมกับผู้ด้อยโอกาส โดยเน้นการบูรณาการทั้งด้านวิชาการความรู้ด้านการผลิตผ้าไหม ด้านศีลธรรม จริยธรรม และด้านการดำรงชีวิตที่เหมาะสม หลักสูตรที่ใช้ จะเน้นความหลากหลาย เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมและความจำเป็นสำรับผู้ด้อยโอกาสที่เน้นในเรื่องการดำรงชีพที่สามารถพึ่งตนเองได้เน้นการเรียนรู้ แบบประสบการณ์ตรงโดยมีแหล่งเรียนรู้ที่ใกล้ตัวปลูกฝังความเป็นผู้รักถิ่นฐานเดิม จากการประยุกต์ใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น สร้างโอกาสที่เสมอภาคของแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสให้ได้รับการพัฒนายกระดับฝีมือแรงงานที่มีคุณภาพ พร้อมทั้งเป็นต้นแบบของชุมชนต่อไป

เรื่องราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

กว่า 74 หน่วยงาน 42 จังหวัด กับ 1 เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มีศักยภาพ ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพแก่แรงงานด้อยโอกาส