เปลี่ยนอดีตนักโทษให้เป็นผู้ประกอบการรุ่นใหม่! ด้วยการเปิดคอร์สอบรมทักษะสำหรับศตวรรษที่ 21 ในทัณฑสถานฯ ลำปาง

ลำปาง ผู้ประกอบการ

ในฐานะของหน่วยงานด้านการศึกษาที่สำคัญในพื้นที่ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปางจึงได้มีการร่วมงานกับทัณฑสถานในพื้นที่มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นส่วนสำคัญในการฝึกฝนทักษะทางอาชีพให้กับผู้ต้องขัง รวมถึงส่งเสริมนิสัยรักการทำงาน เพื่อเป็นจุดตั้งต้นสำหรับการออกไปประกอบอาชีพจริงภายหลังการปล่อยตัว

โลกในปัจจุบันมีความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทำให้มีองค์ความรู้ใหม่ๆ เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ซึ่งกลุ่มผู้ต้องโทษในเรือนจำอาจจะไม่มีโอกาสได้เข้าถึงสิ่งใหม่เหล่านั้น ทำให้อดีตผู้ต้องขังต้องประสบปัญหาในการเริ่มต้นชีวิตการทำงาน เกิดความเสี่ยงในการกลับเข้าสู่วงจรเดิม การนำเอาความรู้และทักษะของยุคสมัยปัจจุบันเข้าไปฝึกสอนในทัณฑสถานจึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะป้องกันการกระทำผิดซ้ำได้

มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปางจึงได้จัดทำโครงการร่วมกับทัณฑสถานบำบัดพิเศษลำปางขึ้น ในชื่อ ‘โครงการพัฒนาทักษะอาชีพการเป็นผู้ประกอบการยุคใหม่ของผู้ต้องขังทัณฑสถานบำบัดพิเศษ ลำปาง’ เพื่อเป็นการขับเคลื่อนการฝึกฝนทักษะอาชีพยุคใหม่ให้กับผู้ต้องโทษ โดยอิงจากเรื่องและประเด็นที่กลุ่มเป้าหมายมีความถนัดและให้ความสนใจ

กลุ่มเป้าหมายของโครงการประกอบไปด้วยผู้ต้องขังในทัณฑสถานบำบัดพิเศษ จำนวน 100 คน แบ่งเป็นผู้ต้องขังในเรือนจำ 70 คน และผู้ต้องขังเตรียมความพร้อมก่อนปล่อย 30 คน โดยสมาชิกทุกคนจะได้รับการพัฒนาศักยภาพในการเป็นผู้ประกอบการยุคใหม่ให้กับกลุ่มป้าหมาย โดยมีการต่อยอดความถนัดและทักษะต่างๆ ให้เหมาะสมกับธุรกิจในโลกยุคใหม่ โดยแบ่งได้เป็นหลายอาชีพ เช่น กลุ่มอาชีพรับจ้าง อาชีพขับรถ อาชีพเลี้ยงสัตว์ อาชีพอิสระ อาชีพทางการเกษตร และกลุ่มอาชีพด้านช่างต่าง

หลักสูตรการอบรมที่มหาวิทยาลัยได้จัดทำขึ้นครอบคลุมตั้งแต่ระดับต้นน้ำ กลางน้ำ ไปจนถึงปลายน้ำ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ การเขียนแผนธุรกิจ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ และทักษะการเป็นผู้ประกอบการยุคใหม่ อาทิ การใช้เทคโนโลยีดิจิทัล การใช้โซเชียลมีเดียในการตลาด โดยตลอดหลักสูตรจะมีการสอดแทรกแนวคิดด้านคุณธรรมและวิถีพอเพียงเข้าไป เช่น การดำรงชีวิตตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง ความซื่อสัตย์สุจริต ความอดทนพากเพียร เป็นต้น

โครงการได้เริ่มต้นกำนินมาแล้วระยะเวลาหนึ่ง ทำให้ได้เห็นความปลี่ยนแปลงของกลุ่มเป้าหมายซึ่งพบว่าผู้ต้องโทษได้มีแรงจูงใจในการประกอบอาชีพและมีทัศนคติที่ดีต่ออนาคตภายหลังการพ้นโทษ หลักสูตรการเป็นผู้ประกอบการยุคใหม่ จึงมีบทบาทอย่างยิ่งในการสร้างกำลังใจและสร้างแนวทางการประกอบอาชีพที่เท่าทันยุคสมัย และเปิดโอกาสให้ผู้ต้องโทษมีทางเลือกด้านอาชีพที่หลากหลาย ซึ่งเกิดจากความชอบและความถนัดของตนอย่างแท้จริง ซึ่งนับว่าเป็นจุดเริ่มต้นอันสำคัญที่จะช่วยให้กลุ่มเป้าหมายกลุ่มนี้สามารถกลับมาใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างมีคุณภาพและมีความมั่นคงทางร้ายได้จากอาชีพสุจริต

เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น

การพัฒนาทักษะอาชีพการเป็นผู้ประกอบการยุคใหม่ของผู้ต้องขังทัณฑสถานบำบัดพิเศษลำปาง

ชื่อหน่วยงาน

มหาวิทยาลัยราชภัฎลำปาง

จังหวัด

ลำปาง

ปีโครงการ

2562

ติดต่อ

ผู้ประสานงาน: นางสาวสุคนธ์ทิพย์ สุภาจันทร์
โทร: 089-9546359

เป้าประสงค์โครงการ

  1. สร้างโอกาสที่เสมอภาคให้ผู้ต้องขังให้ได้รับการพัฒนายกระดับฝีมือแรงงานที่มีคุณภาพ
  2. ผู้ต้องขังมีศักยภาพ มีขีดความสามารถในการประกอบการธุรกิจยุคใหม่ สามารถนำความรู้ความเข้าใจการประกอบอาชีพไปแข่งขันการทำงานประกอบอาชีพ
  3. ผู้ต้องขังสามารถประกอบอาชีพอิสระ ที่สร้างรายได้เลี้ยงตัวเองและครอบครัว
  4. ผู้ต้องขังที่เข้าโครงการมีทัศคติที่ดีต่ออาชีพการงานที่สุจริตที่มีคุณธรรม จริยธรรม รับผิดชอบต่อสังคม มีแรงจูงใจในการประกอบอาชีพ
  5. ผู้ต้องขังมีข้อมูลประกอบการตัดสินใจประกอบการอาชีพอิสระที่สามารถสร้างรายได้หลังพ้นโทษ

เรื่องราวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

กว่า 74 หน่วยงาน 42 จังหวัด กับ 1 เป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนที่มีศักยภาพ ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพแก่แรงงานด้อยโอกาส