ชุมชนบ้านช่างแปลง 8 ฟื้นเทคนิค ‘ผ้าทอจก’ ที่ทั้งช่วยสืบทอดวัฒนธรรมและยังหารายได้เข้าชุมชนได้ด้วย
ในยุคนี้การพึ่งพารายได้จากพืชผลทางการเกษตรแต่เพียงอย่างเดียว นับว่ามีความเสี่ยงต่อเกษตรกรเป็นอย่างมาก เนื่องจากราคาของสินค้าประเภทนี้มีความผันผวนและเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว ส่งผลต่อผลกำไร-ขาดทุนอย่างที่ควบคุมได้ยาก
การมี ‘อาชีพเสริม’ จึงเป็นหนทางสำคัญที่จะช่วยสร้างความมั่นคงทางรายได้ให้กับกลุ่มเกษตรกรในหลายพื้นที่ เช่นเดียวกับในพื้นที่ของบ้านชั่ง (แปลง 8) ที่มีโครงการพัฒนาฯ กลุ่มเป้าหมายเพื่อให้เกิดทักษะใหม่ๆ ที่สามารถสร้างรายได้เข้าครัวเรือน
แสงเดือน เปี้ยตั๋น ผู้ก่อตั้งศูนย์การเรียนรู้การทอผ้าจกบ้านชั่ง (แปลง 8) กล่าวว่า “ปกติแล้ว รายได้ของชาวบ้านในอำเภอดอยเต่าส่วนใหญ่ มาจากการขายลำไย แต่ปีที่ผ่านมาราคาตกลงมาก บางบ้านขายแทบไม่ได้เลย เราเห็นความไม่ยั่งยืนแบบนี้เกิดขึ้นในชุมชนมาตลอด เลยอยากถ่ายทอดทักษะความรู้การทอผ้าซิ่นตีนจกที่มี ให้กลุ่มสตรีแม่บ้านในชุมชน เพื่อเป็นทางเลือกและสร้างโอกาสทางอาชีพให้กับพวกเขา”
ด้วยเหตุนี้ แสงเดือน จึงริเริ่ม โครงการพัฒนาทักษะการทอผ้าจกเพื่อสร้างอาชีพสำหรับกลุ่มสตรีแม่บ้านที่มีพื้นฐานการทอผ้า ขึ้น โดยใช้ศูนย์การเรียนรู้การทอผ้าจกบ้านชั่ง (แปลง 8) เป็นฐานการเรียนรู้ เพื่อสร้างมูลค่าทางการตลาดให้กับผ้าซิ่นตีนจกดอยเต่า และในขณะเดียวกัน ก็ยังเป็นการสืบสานภูมิปัญญาการทอผ้าจกดั้งเดิมให้คงอยู่กับชุมชนต่อไป ด้วยการสนับสนุนจากหน่วยงานและองค์กรภายนอก เช่น การสนับสนุนให้เยาวชนที่ได้เรียนรู้การทอผ้าจากศูนย์การเรียนรู้ ได้ศึกษาต่อด้านผ้าทอที่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เพื่อกลับมาพัฒนาและต่อยอดผลิตภัณฑ์ผ้าทอดอยเต่า ซึ่งมี ศูนย์ศิลปาชีพและโรงเรียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา ช่วยสนับสนุนด้านการตลาดอีกทอดหนึ่ง
‘ผ้าซิ่นตีนจกดอยเต่า’ จังหวัดเชียงใหม่ เป็นผ้าทอที่สืบทอดต่อกันมาอย่างยาวนานผ่านรุ่นสู่รุ่น ทว่าด้วยกรรมาวิธีการผลิตที่ต้องอาศัยความประณีตและซับซ้อน ทำให้ปัจจุบันผ้าทอจกกำลังสูญหายไปจากชุมชน โดยโครงการนี้มีเป้าหมายในการอนุรักษ์และฟื้นฟูภูมิปัญญาดั้งเดิมให้ได้รับการสืบสานต่อไป ซึ่งแสงเดือนเล่าว่า เธอได้สืบสานองค์ความรู้ด้านการทอผ้าจกภูมิปัญญาดั้งเดิมของชุมชนมาจาก แม่นิล ถามัง ปราชญ์ชาวบ้านเพียงคนเดียวในชุมชนที่ยังทอผ้าและยังสื่อสารพูดคุยกันได้รู้เรื่อง ทั้งวิธีการทอผ้าจก การแกะลายผ้า แล้วนำมาพัฒนาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ผ้าทอพื้นเมืองรูปแบบใหม่
องค์ประกอบของซิ่นตีนจก แบ่งออกเป็น 3 ส่วนที่สำคัญ ได้แก่ เอวซิ่น ตัวซิ่น และส่วนที่เป็นตีนซิ่น ‘หรือที่เรียกว่าตีนจก’ เมื่อนำทั้ง 3 ส่วนนี้มาเย็บต่อกันถึงจะได้ผ้าซิ่นตีนจก 1 ผืน คณะทำงานจึงแบ่งหน้าที่ทอผ้าแต่ละส่วนให้กลุ่มเป้าหมาย ซึ่งมีจำนวน 50 คน ทอตามความเชี่ยวชาญและความสมัครใจ ก่อนจะนำมาประกอบกันเป็นผ้าซิ่นที่สมบูรณ์เต็มผืน โดยแบ่งรายได้ตามความยาก-ง่ายในการทอผ้าแต่ละผืน
ทั้งนี้ การทอผ้าซิ่นตีนจกดอยเต่าที่กลุ่มเป้าหมายจะได้เรียนรู้ มีทั้งลายโบราณและลายที่ออกแบบใหม่ ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นลายที่เป็นเอกลักษณ์ของอำเภอดอยเต่าทั้งสิ้น อาทิ ลายโบราณ จะมีลายหงส์เครือและลายกุดสูน ส่วนลายที่ออกแบบใหม่ จะมีลายเอื้อมเดือน ลายแสงงาม ลายหัวใจสุมนา ลายหัวใจสัตยา ลายจงกลนี ลายนิล และลายอึ่ง เป็นต้น
เนื่องจากศูนย์การเรียนรู้มีกี่ทอผ้าทั้งหมด 17 กี่ ทำให้ในช่วงฝึกฝนฝีมือ กลุ่มเป้าหมายจำเป็นต้องใช้กี่ทอผ้าร่วมกัน อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่กลุ่มเป้าหมายแต่ละคนว่างไม่ตรงกัน ทำให้สุดท้ายแล้ว ปัญหานี้จึงไม่ใช่อุปสรรค เพราะกลุ่มเป้าหมายต่างสลับผลัดเปลี่ยนกันเข้ามาฝึกฝนตามเวลาที่สะดวก โดยมีบรรยากาศการเรียนรู้แบบครอบครัว
พวงแก้ว ม่วงคำ อายุ 49 ปี หนึ่งในกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งประกอบอาชีพเกษตรกรสวนลำไย และเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวของลูกอีก 3 คน เล่าว่า สวนของเธอมีลำไย 40 ต้น เก็บลำไยได้แค่ปีละครั้ง มิหนำซ้ำ ช่วงที่ผ่านมาเจอสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จากที่ตกลงกับพ่อค้าให้มารับซื้อลำไย ในราคาประมาณ 100,000-200,000 บาท พ่อค้าก็ไม่กล้ามารับซื้อ ทำให้ต้องเก็บขายเอง ซึ่งได้แค่ 30,000 บาท
“เมื่อรายได้ไม่แน่นอน เราก็เลยอยากหารายได้เสริม ประกอบกับสนใจการทอผ้า เพราะอยากมีความรู้ อยากมีวิชาติดตัวไว้ เพราะเราเห็นยายทอผ้ามาก่อน แล้วแม่มาสานต่อ แล้วเราก็มีลูกสาวเหมือนกัน ต่อไปถ้าเราทำเป็น ก็จะได้ถ่ายทอดให้ลูกได้อีก ซึ่งพอมาฝึกฝนตรงนี้แล้วมีรายได้เพิ่มขึ้นอีกเดือนละ 2,000-3,000 บาทก็พอใจแล้ว ได้เงินส่งลูกเรียนหนังสือ ได้อยู่กับลูกและครอบครัวที่บ้าน เพราะมีตากับยายอีก 2 คนที่ต้องดูแล ตอนนี้เราทำงานอยู่บ้านได้ ไม่ต้องออกไปนอกชุมชนเลย”
ซึ่งผลตอบรับจากกลุ่มเป้าหมายอย่างพวงแก้ว สอดคล้องกับเป้าหมายหลักของโครงการที่ แสงเดือน ตั้งเอาไว้ตั้งแต่แรก ดังที่เธอกล่าวว่า “เราบอกสมาชิกเสมอว่าศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้เป็นของทุกคน สามารถมาได้ทุกเวลา และในอนาคต ถ้ากิจการขยายต่อไปได้ เราก็จะตั้งกรรมการกลุ่มขึ้นมาดูแล เพื่อให้ทุกคนได้รับประโยชน์อย่างเท่าเทียมกัน”
นอกจากการสร้างงาน สร้างอาชีพ และสร้างรายได้แล้ว การสืบสานภูมิปัญญาการทอผ้าซิ่นตีนจกดอยเต่า ยังช่วยให้กลุ่มเป้าหมายรู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา ผ่านการทำงานร่วมกันเป็นหมู่คณะ เพราะการจะดำเนินงานให้สำเร็จได้นั้น ทุกคนต้องทำความเข้าใจบุคลิกและนิสัยที่แตกต่างกันของแต่ละคน ซึ่งช่วยทำให้เกิดความไว้เนื้อเชื่อใจกัน จนสามารถขับเคลื่อนโครงการไปสู่ความสำเร็จได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นความสำเร็จที่ได้มาจากการร่วมมือกัน ไม่ใช่ความสำเร็จของใครคนใดคนหนึ่ง
“เมื่อก่อน กลุ่มแม่บ้านที่นี่ต่างคนต่างอยู่บ้านของตัวเอง พอมีโครงการนี้เข้ามา บางคนบอกเราเลยว่า เขารีบทำงานอื่นเพื่อจะได้มาตรงนี้เลยนะ มีการทักถามในไลน์กลุ่มว่าวันนี้มีใครมาบ้างอย่างกระตือรือร้น” แสงเดือน เปี้ยตั๋น ผู้ก่อตั้งศูนย์การเรียนรู้การทอผ้าจกบ้านชั่ง (แปลง 8)
แชร์:
เกี่ยวกับโครงการเบื้องต้น
พัฒนาทักษะการทอผ้าจกเพื่อสร้างอาชีพสำหรับกลุ่มสตรีแม่บ้านที่มีพื้นฐานการทอผ้า ในอำเภอดอยเต่า จังหวัดเชียงใหม่
ชื่อหน่วยงาน
จังหวัด
ปีโครงการ
ติดต่อ
เป้าประสงค์โครงการ
- เพื่อให้กลุ่มสตรีแม่บ้าน มีทักษะทอผ้าจก เพื่อการประกอบอาชีพอย่างยั่งยืน
- เพื่ออนุรักษ์และสืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่น
- เพื่อเพิ่มมูลค่าทางการตลาดให้แก่ผ้าทออำเภอดอยเต่า จังหวัดเชียงใหม่